
โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๔๔ เข้าเมือง “พระตะบอง”
จากทางแยกเข้าเสียมราฐ ที่เขาไม่สามารถเข้าไปดูนครวัดได้เราจําเป็นจะต้อง เดินทางต่อไปพระตะบอง เมืองใหญ่อันดับสองรองจาก พนมเปญ และเคยเป็นเมืองที่ประเทศไทยเคยปกครอง ตลอดระยะทางเราได้เห็นผลของสงคราม หมู่บ้านทั้งเล็กทั้งใหญ่มีร่องรอยถูกไฟไหม้ตึกแถวมีรอยกระสุนปืน เห็นสภาพแล้วหดหูใจและให้เกิดความรู้สึก การเดินทางเข้ามา
ทําข่าวครั้งนี้อันตรายกว่าสงครามเวียตนามที่เคยไปทําข่าวมา การเดินทางที่ตลอดระยะทางเต็มไปด้วยปัญหามากมาย เราต้องใช้เวลานานถึงเกือบ สิบชั่วโมง ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงพระตะบองเกือบสองทุ่ม เมืองทั้งเมืองค่อนข้างมืด แต่ไม่สนิท เพราะมีบางบ้านบางร้านรวงยังเปิดไฟอยู่
เราเลือกเข้าบ้านหลังหนึ่ง ที่มีไฟสว่างมากกว่าบ้านหลังอื่น เมื่อเข้าไปถึงรู้ว่าเป็น ร้านขายของชํา แต่ข้าวของในร้านเกะกะไม่เป็นระเบียบ ค่อนข้างจะสกปรก ผู้นําทางซึ่งอ้างว่าเป็นญาติกับ นายควง อภัยวงศ์ บอกกับเราว่าเราจําเป็นที่จะต้อง ขอเจ้าของร้านนี้ค้างคืน จะเดินทางต่อไม่ได้เพราะตอนดึก จะมีการปะทะกันระหว่าง ทหารรัฐบาลกับฝ่ายเขมรแดง เป็นเวลาที่อันตรายมาก คืนนั้นพวกเราทั้งหมด จึงจําเป็นต้องนอนตากยุง นอนข้าง ๆ ข้าวของที่ระเกะระกะ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง ที่มีกลิ่นรุนแรง
ตอนดึกก็จะสะดุ้งตื่น เพราะได้ยินเสียงปืนใหญ่ จนแทบจะไม่ต้องหลับต้องนอน พระตะบองเป็นเมืองใหญ่ คนเขมรออกเสียงว่า “บัตตาบอง” แต่เมืองใหญ่ของเขมร มีขนาดประมาณอําเภอเล็ก ๆ บ้านเรา เมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ําที่ชื่อว่า “แม่น้ําสะแก” แต่ เป็นแม่น้ําขนาดเล็ก ๆ ที่จะเปรียบเทียบกับแม่น้ําเจ้าพระยาของเราไม่ได้ ประมาณคงจะ เหมือนแม่น้ํานครนายก แค่ตลิ่งสูง มีสะพานข้ามเพียงสะพานเดียวที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ ถนนหนทางรอบเมืองมีไม่กี่สาย นอกจากนั้นก็จะเป็นถนนที่ชาวบ้านใช้ระแทะ คือเกวียน เขมรใช้สัญจรไปมา
ที่เห็นสัญลักษณ์ของเมืองคือ รูปปั้นยักษ์ถือพานที่ใส่กระบองทําท่าถวายเพื่อแสดง ถึงความจงรักภักดี ย่านธุรกิจของเมือง มีเพียงแห่งเดียว มีตึกขนาด ๒ ชั้นตั้งอยู่เพียงไม่กี่แห่ง นอกจาก นั้นก็ปลูกสร้างกันอย่างไม่เป็นระเบียบ เช่นเดียวกับตลาดสดที่วางขายสินค้าแบกับดิน และเป็นสถานที่เดียวที่จะได้ยินเสียงคนตะโกนโหวกเหวกอย่างชวนปวดหัว ของที่ขาย นอกจากจะเป็นผักหญ้าก็มีทั้งปลาสดปลาแห้งเขมรมีปลาได้มาจากตองเลสาปแถว เสียมราฐเป็นจํานวนมาก “พระตะบอง” อาจจะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ก็มีสนามบินเช่นเดียวกับ “พนมเปญ” แต่เป็นสนามบินของทหาร ไม่ใช่สนามบินพลเรือน เราตระเวณสํารวจรอบเมืองเพื่อ หาหนทางเข้าสนามรบซึ่งจะอยู่ชานเมือง
ไม่ถึงวันเราก็เริ่มรู้จักคุ้นเคยเมือง แต่เป็นการรู้จักอย่างผิวเผิน เป็นพระตะบองที่อยู่ ในสภาพสงครามกลางเมือง สงครามที่แตกต่างไปจากสงครามเวียตนามที่เคยสัมผัสมา และผู้ทําให้คณะของเรารู้จักพระตะบองมากขึ้นเราจะต้องรู้จักนายพล “เซ็กซ์เอียด” ที่เล่าลือกันว่าเป็นผู้บัญชาการทหาร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้ว่าราชการพระตะบอง นายพลผู้นี้เป็นเป็นทหารคนสนิทของ “นายพลลอนพล” ซึ่งเป็นน้องชายของ “นายพลลอนนอล” ผู้โคนล้มรัฐบาลของเจ้าสีหนุ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สหรัฐอเมริกา จนทําให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ใหญ่โตเช่นในตอนนี้
เขมรในตอนนั้นแตกออกเป็นสองฝ่าย คือเขมรรัฐบาลกับเขมรกะฮอมหรือเขมรแดง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ สิ่งที่สังเกตุได้ก็คือเขมรในเมืองจะเป็นเขมรที่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนเขมรต่างจังหวัด จะสนับสนุนคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาก็มีการแตกแยกเป็นเขมรแดง คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นเขมรขาวที่เป็นเขมรเป็นฝ่ายโลกเสรี เขมรเวียตที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียตนาม และเขมรเสรีที่เป็นอิสระ ไม่แสดงตัวว่าจะอยู่ฝ่ายใด
หลังจากที่เราพยายามติดต่อขอพบ “นายพลเซ็กซ์เอียด” อยู่หลายวัน เราก็ได้รับคําตอบจากท่านนายพลยินดีให้พบที่จวนของที่พักของท่าน จวนดังกล่าวนี้ก็คือจวนของ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศน์” ผู้สําเร็จราชการสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ซึ่งต่อมาก็อพยพกลับประเทศไทย เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเขมร และมีกรณีพิพาทกับไทยมาตลอด ลักษณะจวนที่เราเห็นใหญ่โตสง่างาม แต่มีทหารรัฐบาลเป็นจํานวนมากที่ขุดบังเกอร์ รอบ ๆ จวนบรรยากาศดูน่ากลัว ท่านนายพลเชิญคณะของเราร่วมรับประทานอาหารเย็นและพูดคุยให้สัมภาษณ์กัน
อย่างไม่เป็นทางการที่ระเบียงของจวน คืนนั้นเราอยู่กับท่านจนดึก ท่านเมตตาให้ทหารขับรถมาส่งเราที่โรงแรม โดยอธิบายว่า หลังสองทุ่มเมืองพระตะบองประกาศเป็นเวลาเคอร์ฟิวส์ ประชาชนจะออกจากบ้านไม่ได้
สันติ เศวตวิมล นักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส เจ้าของรางวัลนักเขียนรางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์ ๒๕๖๕