ผู้นำชุมชน-ส.ส.จันทบุรี หวังแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ผู้นำชุมชน-ส.ส.จันทบุรี หวังแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ผู้นำชุมชน-ส.ส.จันทบุรี หวังแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด “เพิ่มรายได้เกษตรกร-ฟื้นฟูป่า-เป็นรั้วป้องกันช้างออกนอกเขต”

ผู้นำชุมชน – ส.ส.พื้นที่ จ.จันทบุรี คาดหวังแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บคลองวังโตนด เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนยกระดับรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตทุเรียน ยางพารา ตลอดปี สร้างระบบนิเวศ ฟื้นฟูผืนป่า สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน แก้ปัญหาแหล่งหากินให้สัตว์ป่า ป้องกันการเคลื่อนย้ายหากินของช้างได้อย่างเป็นรูปธรรม 

นายเดช จินโนรส ผู้นำชุมชน ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดในพื้นที่ จ.จันทบุรี กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งที่ 4 ของลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่มีความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง 87,700 ไร่ และเป็นหนึ่งใน 4 แห่งของอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด, อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่, อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อห่วงกังวลต่าง ๆ โดยกรมชลฯ ซึ่งมี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน เข้ามาร่วมรับฟังปัญหาและวางแนวทางร่วมกัน เพื่อการพัฒนาโครงการให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด  และเป็นประโยชน์กับประชาชนในทุกด้าน ทั้งการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ทำการเกษตร และยังสามารถช่วยฟื้นฟูผืนป่าไม้และสัตว์ป่า ทำให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาช้างลงมาในพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านได้ เพราะอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ จะกลายเป็นรั้วป้องกันช้างไม่ให้ออกนอกเขตผืนป่า เนื่องจากที่ผ่านมาโขลงช้างที่อาศัยในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมได้เข้ามาหากินในพื้นที่ทำการเกษตร ด้วยความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ช้างขาดแหล่งน้ำ จึงขยายอาณาเขตหากิน เพื่ออาศัยแหล่งน้ำที่ชาวบ้านขุดเพื่อการเกษตรและกินพืชผลทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนที่เร็ว ในการดูแลและป้องกันช้างเข้าพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อผลักดันให้ช้างกลับเข้าสู่ผืนป่า ดังนั้นการมีอ่างเก็บน้ำจึงสามารถจำกัดเส้นทางเดินเข้าพื้นที่ทำกินเกษตรกรของสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กรมชลฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ ยังร่วมกันจัดทำแนวทางการเข้าไปดูแลช้างในด้านต่าง ๆ ทั้งการปลูกป่าทดแทน การสร้างแหล่งน้ำและแหล่งสำรองอาหารสำหรับสัตว์ป่า เช่น กล้วย หน่อไม้ รวมถึงการจัดทำโปร่งเทียม และจัดทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ยังสามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากพื้นที่ป่าบริเวณการก่อสร้าง เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หากมีความชุ่มชื้นทำให้พันธ์ไม้ต่าง ๆ เติบโตได้ เพราะมีแนวทางการร่วมกันปลูกป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างมีความหวังในการมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ขึ้นมา เพราะจันทบุรีเป็นพื้นที่สูงหากไม่มีอ่างเก็บน้ำ จะส่งผลต่อการไหลของน้ำที่สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ในช่วงฤดูฝน     

“ด้วยพื้นที่ศักยภาพของจังหวัดจันทบุรี ถือเป็นแหล่งการผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน และยังมีผลไม้ที่มีผลผลิตตามฤดูกาลของประเทศออกมาหลายชนิด จำเป็นต้องอาศัยน้ำเพื่อการเพาะปลูก ทำให้น้ำคือต้นทุนสำคัญของเกษตรกรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีงานทำตลอดทั้งปี  แต่ที่ผ่านมาทุกปีเกษตรกรมักประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำใช้ในภาคการเกษตรไม่เพียงพอ ดังนั้นการที่กรมชลฯ ได้วางแนวทางการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด จึงช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงโดยเฉพาะการปลูกทุเรียน และสวนยางพารา

ด้าน นายจารึก ศรีอ่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท เขต 2 จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า คนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีความต้องการอ่างเก็บน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งอุปโภค-บริโภค รวมถึงเพื่อการเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง อาทิ ในพื้นที่เขต อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ที่ทำสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน และสวนยางพารา ให้สามารถมีน้ำใช้เพียงพอในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในหน้าแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาต้องอาศัยการส่งน้ำมาจาก อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ซึ่งเป็นอ่างกักเก็บน้ำที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการฯดังกล่าว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ให้กับสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะช้างป่าที่อาศัยอยู่บริเวณอทุยานเขา 15 ชั้น ได้เป็นจำนวนมาก พร้อมช่วยแก้ไขปัญหาช้างบุกรุกที่ทำกินให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จึงมองว่าการพัฒนาโครงการฯ จะไม่กระทบผืนป่าและพันธ์ไม้ที่มีอยู่กว่า 14,000 ไร่ เนื่องจากผืนป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เสื่อมโทรม ซึ่งในอดีตโรงไม้ใหญ่ในพื้นที่ได้มีสัมปทานเข้ามาตัดไม้ที่เสื่อมโทรมออกไปหมดแล้ว โดยในตอนนี้จะมีเฉพาะพวกเถาวัลย์ และต้นไม้ขนาดเล็กเท่านั้น จึงมั่นใจว่าการมีอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเพิ่มอีก จะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งและทำให้ชาวเกษตรกรมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างมากในอนาคต

ผู้นำชุมชน-ส.ส.จันทบุรี หวังแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด “เพิ่มรายได้เกษตรกร-ฟื้นฟูป่า-เป็นรั้วป้องกันช้างออกนอกเขต”