สาธารณสุข สมดุลแห่งชีวิต Part 1

สาธารณสุข สมดุลแห่งชีวิต Part 1

Hope Springs Eternal สมดุลแห่งชีวิต

มนุษย์เราควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต จิตใจ และสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตที่ทุกคนพึงมี ในเรื่องของสาธารณสุข (Public health) การมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดมาตรฐาน โดยบอกว่า “สภาพของการมีชีวิตทางกายภาพ ทางจิตใจ และทางสังคมที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงไม่มีโรคภัยหรือ ความแข็งแรงทางกายเท่านั้น” แสดงให้เห็นว่ายังมีปัจจัยรอบข้างมากมายที่เกี่ยวโยงกันอย่างเป็นระบบด้วยนั่นเอง

MiX Magazine เล็งเห็นความสำคัญของสาธารณสุข ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตลอดเวลา หากมีมาตรฐานที่ดีพอจะนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนได้ นอกจากนี้สาธารณสุขยังมีแง่มุมในด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งเรารวบรวมมาให้อ่านกัน 

วิวัฒนาการสาธารณสุขของโลก  ความจริงแล้วมนุษย์นั้น รู้จักการดำรงชีวิตด้วยการทดลองความเจ็บไข้ได้ป่วย การรักษาตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างช้านาน  ลองผิดลองถูก จนรู้ว่าควรใช้ชีวิตแบบใด มีการบันทึกถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ พัฒนาเป็นเรื่องของสาธารณสุขในปัจจุบัน

สมัยก่อนคริสตกาล คนในสมัยโบราณรู้จักการทำความสะอาด เนื่องจากเหตุผลทางศาสนาเป็นสำคัญ เพื่อให้ตนเองบริสุทธิ์สะอาดในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ในยุคนั้นมักจะเข้าใจกันว่า เป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ สิ่งเดียวที่ป้องกันตนเองที่ทำได้ คือ การแยกหรือกำจัดผู้ป่วยให้พ้นจากครอบครัว และชุมชน

ยุคกลาง เป็นยุครุ่งเรืองของคริสต์ศาสนา ผู้นำให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชน มีการพัฒนาการสุขาภิบาลการแพทย์ การให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยเช่น อหิวาตกโรค ซึ่งเรียกกันว่า ยุคมืด มีการระบาดจากประเทศอินเดีย กระจายไปแทบทุกประเทศที่มีการเดินทางของผู้เผยแผ่ศาสนาเป็นผลให้มีมาตรการป้องกันการระบาดของโรค การเริ่มจัดให้มีด่านกักโรคจึงเกิดขึ้นในยุคนี้ 

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ประมาณ ค.ศ. 1478-1553 แพทย์ชาวเวนิส พบว่า โรคติดต่อระบาดได้โดยมีผู้สัมผัสโรค เป็นสื่อนำ ในยุคนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินงานทางสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ มีเพียงความเห็นของนักวิชาการในบางท้องที่เท่านั้น

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงปัจจุบัน

คริสต์ศตวรรษที่ 18 การสาธารณสุขของโลกได้เจริญขึ้นทั้งในทางป้องกัน และรักษาโดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner, ค.ศ. 1749-1823) แพทย์ชาวอังกฤษ คิดวิธีปลูกฝีป้องกัน ไข้ทรพิษได้สำเร็จ โรเบิร์ตค็อก (Robert Koch, ค.ศ. 1843-1910) ชาวเยอรมัน ค้นพบวิธีแยก เชื้อบัคเตรี หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur, ค.ศ. 1822-1895) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรค และวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ  

ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับยุงและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค และหลังจากนั้นก็มีการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างโรคภัยไข้เจ็บ และชุมชนอย่างกว้างขวาง ความก้าวหน้าของการสาธารณสุข มีการสร้างโรงพยาบาล ฝึกอบรมแพทย์พยาบาล และบุคลากรระดับผู้ช่วย และจัดตั้งองค์การต่างๆ เพื่อการรักษาพยาบาล ป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ  กระทั่งในปีพ.ศ. 2491 ได้มีการจัดตั้งองค์การอนามัยโลกขึ้น ดำเนินงานเพื่อสังคมโลกมาจนถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการสาธารณสุขไทย ในเรื่องของสาธารณสุขไม่ได้มีแต่ฝั่งตะวันตก แต่ความจริงในแถบเอเชียก็มีเรื่องของสาธารณสุขและการแพทย์ไม่แพ้ที่อื่น

สมัยสุโขทัย การแพทย์ในสมัยสุโขทัย มีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดี และได้พบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงบันทึกว่า ทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่ไว้บนเขาหลวง หรือเขาสรรพยาปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยสำหรับให้ราษฎรได้เก็บสมุนไพร ไปใช้รักษาโรคในยามเจ็บป่วย 

สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านการแพทย์ในสมัยอยุธยา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าการแพทย์ในสมัยอยุธยามีลักษณะการผสมผสาน ปรับประยุกต์มาจากการแพทย์ของอินเดียที่เรียกว่า อายุรเวทและการแพทย์ของจีน รวมทั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์

ยุควางรากฐานและฟื้นฟูการสาธารณสุข

สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 เป็นยุคเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้ง 2 พระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายา และฤาษีดัดตนไว้ตามศาลาราย สำหรับการจัดหายาของราชการมีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถ 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวได้ว่าเป็นปีแรกที่การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการแพทย์และการสาธารณสุข โดยดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งรักษาและป้องกันไปด้วย และนายแพทย์แดน บีซบรัดเลย์(Dan BeachBradley) ชาวบ้านเรียกว่า “หมดบลัดเล” นักเผยแพร่คริสต์ศาสนาชาวอเมริกันซึ่งมากับคณะมิชชั่นนารีได้เข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2378 เป็นผู้ริเริ่มการป้องกันโรคติดต่อครั้งแรกในสยาม

ยุคบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง

สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2394-2467) เป็นยุคที่มีการติดต่อกับประเทศแถบตะวันตก พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเสด็จประพาสต่างประเทศ ได้เห็นความเจริญในด้านต่าง ๆ จึงได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศทั้งบ้านเมืองเจริญ  ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้รุ่งเรืองขึ้น การแพทย์ในยุคนี้ได้แบ่งแยกแพทย์แผนโบราณและแพทย์สมัยใหม่ออกจากกันอย่างชัดเจน 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชมีหลักสูตรแพทย์ จัดตั้งกองแพทย์เพื่อดูแลป้องกันโรคระบาดและทำการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแก่ประชาชน และยังก่อตั้งโรงเรียนนางผดุงครรภ์ สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสร้าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2457 โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินช่วยเหลือจากสมาคมอุณาโลมแดง

ยุคบุกเบิกของการแพทย์ และการสาธารณสุขแผนปัจจุบัน  (พ.ศ. 2460-2472)  

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกของไทยที่สนพระทัยในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างจริงจัง เนื่องจากทรงเห็นว่าการแพทย์และสาธารณสุขในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการบำรุงส่งเสริมการแพทย์และการสาธารณสุข ทรงส่งเสริมค้นคว้าทางการแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่การสอนอบรม ให้นักศึกษาแพทย์ รวมทั้งปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้าน จึงทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมัยรัชกาลที่ 7 มีการแบ่งการรักษาโรคศิลปะ เป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ พ.ศ. 2469 กรมสาธารณสุขได้อนุมัติให้ปรับปรุงส่วนบริหารราชการใหม่ แยกเป็นกองต่าง ๆ เช่น กองที่ปรึกษา กองสุขภาพ กองโอสถสภา กองยาเสพติดให้โทษกองส่งเสริมสุขาภิบาล เป็นต้น 

สมัยรัชกาลที่ 8 กรมสาธารณสุขถูกจัดตั้งขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรีย รัฐบาลจึงมีนโยบายให้โรงงานกระทรวงสาธารณสุข นำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรคอีกด้วย 

สมัยรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากมายเรียกว่าเป็นยุคที่สาธารณสุขเติบโต ทั้งการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพ พระองค์ทรงเป็นผู้ได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ 

สมัยรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่สร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร ทรงพระราชทานทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ราษฎร 

ในยุคของพระองค์ได้เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 พระองค์จึงได้พระราชทานอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์หลายแห่งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ผ่าน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19” เสริมความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยปัจจุบัน

สาธารณสุขไทยกับต่างประเทศ 

การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราหลายคนได้หันกลับมามองระบบสาธารณสุขของไทยอีกครั้ง จากกรณีการจัดอันดับประเทศ ที่มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกของนิตยสาร CEO WORLD นิตยสารด้านธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา สำรวจกว่า 89 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยของเราติดอยู่ในอันดับที่ 6 เราขอย้อนเส้นทางกว่าจะมาเป็นระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน เราพัฒนาระบบสุขภาพนี้มาได้อย่างไรกันแน่

สาเหตุที่สาธารณสุขไทยติดอันดับโลก ย้อนถึงเกณฑ์การตัดสินการจัดอันดับของระบบสาธารณสุขของนิตยสาร CEO WORLD ได้มีการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1. โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข

2. ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขตั้งแต่แพทย์พยาบาลและบุคลากรอื่น ๆ

3. ค่าใช้จ่ายในระบบ

4. การเข้าถึงยาคุณภาพ

5. ความพร้อมของรัฐบาลในการจัดการระบบ

และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าถึงน้ำสะอาด ระบบสุขอนามัย เป็นต้น เมื่อเรามองดูให้ดีประเทศไทย 40 ปีที่ผ่านมานั้น สุขภาพคนไทยนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น อิงจากอัตราการเกิด อัตราการเสียชีวิตของมารดา ทารก อัตราการใช้บริการของประชาชนต่อสถานพยาบาล ด้วยระบบของประเทศไทยที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์ได้โดยง่าย นอกจากโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ยังมีคลินิกและหมอชุมชนจากอนามัย ที่ปฏิบัติการเชิงรุก ความช่วยเหลือจากหน่วย อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) สวัสดิการของรัฐเช่น 30 บาท บัตรทอง การเบิกจ่ายของราชการ ประกันสังคมที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน การรักษาโรคติดต่ออย่างมาลาเรีย วัณโรค ปอดบวม หรือแม้แต่ HIV ถูกพัฒนาอย่างมาก ทำให้โรคติดต่อจากคนสู่คนมีการควบคุมได้ อีกทั้งยังมีการตั้งสถาบันผลิตแพทย์จำนวนมากทั่วประเทศ การที่ประเทศไทยก้าวกระโดดในระบบสาธารณสุขนั้นจึงมิใช่เรื่องที่บังเอิญแต่อย่างใด

แม้ประเทศไทยจะพัฒนาในระบบสาธารณสุขมากกว่าในอดีต แต่ไทยเองยังคงต้องเผชิญกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากอันดับต้น ๆ ของโลกและโรคทางจิต จากปัจจัยนี้ไทยเองกำลังแนวโน้มขาดกำลังคนหนุ่มสาวมาทดแทน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ไทยจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ และอาจกระทบถึงการพัฒนาประเทศในที่สุด 

ปัญหาของบุคลากรการแพทย์ที่เราไม่ควรมองข้าม!

1. ระบบราชการที่เชื่องช้า

กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรของรัฐที่ขึ้นกับองค์กรทางการเมือง ระบบราชการ ฝ่ายบริหาร ทำให้เมื่อมีนโยบายส่งลงมาบางครั้งอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่แต่ก็ต้องทำตามหรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ผลิตมาจากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ แต่เมื่อได้ทำงานจริง จึงไม่สามารถอยู่ระบบราชการที่ไม่ยืดหยุ่นได้ เราอาจบอกว่าไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง แต่ระบบบริหารเชิงโครงสร้างไม่เอื้อต่อการทำงานของคนเก่ง และผลร้ายก็ตกอยู่กับประชาชนนั่นเอง

2. บุคลากรไม่เพียงพอทำให้ต้องทำงานเกิน 24 ชั่วโมง

การเรียนแพทย์นั้นหลังเรียนจบจะต้องมีการใช้ทุน โดยแพทย์ที่เรียนจบต้องจับฉลากเพื่อชดใช้ทุน จำนวนแพทย์และผู้ป่วยนั้น ณ ปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่สมดุล หลายครั้งแพทย์หลายท่านต้องทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมง เกิดปัญหาสุขภาพจากการทำงานหนักจนเกินไป หลายครั้งเราพบข่าวน่าเจ็บปวดใจจากกรณีแพทย์หลายท่านหลับในขณะขับรถ จนเสียชีวิตดังนั้นเมื่อหมดระยะใช้ทุน แพทย์จำนวนมากจึงเลือกกลับภูมิลำเนา หรือศึกษาต่อจึงขาดแพทย์ที่อยู่ประจำโรงพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือบางครั้งขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างวิสัญญีแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมมากกว่านี้

3. ระบบการทำงานไม่เอื้อต่อแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรที่ดีนั้นต้องมาจากผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี เข้าอกเข้าใจทั้งคนทำงานและผู้รับบริการ แพทย์ไทยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษา ในกรณีข่าวดังวัยรุ่นทะเลาะกันแล้วตามมาทำร้ายคู่อริ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ในแผนกฉุกเฉิน หรือการตัดสินใจส่งต่อไปผ่าตัดของแพทย์ หากมีกรณีเสียชีวิตเกิดขึ้น แพทย์เองก็เหมือนนำขาข้างหนึ่งของตนเข้าไปอยู่ในคุกต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หากดูพิจารณาว่าผิดอาจถูกถอดใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งระบบนั้นไม่มีการปกป้องคนทำงาน เราจะเห็นผู้รับบริการมีปัญหากับเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง เช่น สื่อสารไม่ตรงกันเข้าใจผิด จนเกิดเป็นคลิปไวรัลตามโลกโซเชียล กระทรวงสาธารณสุขนั้นจะปกป้องคนทำงานอย่างไร ? 

4. งบประมาณแต่ละโรงพยาบาล

การจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขนั้นยังคงขาดแคลน หลายโรงพยาบาลต้องออกมาขอรับบริจาคเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลให้พร้อมรักษา จนเกิดกรณีคนดังมาทำกิจกรรมบริจาคจำนวนมาก ทั้งที่แท้จริงแล้วนั้นรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาส่วนนี้ แต่ยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังและยังไม่เห็นทางออก

5. การตกเบิก

การจ่ายเงินล่าช้าของรัฐ ทำให้แพทย์ไม่สามารถเลี้ยงชีพตนได้ จนเกิดปัญหาสมองไหล แพทย์ต้องย้ายจากภาครัฐไปสู่เอกชน หรือย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศ เนื่องจากเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแล้วไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ เป็นอาชีพที่ต้องคอยให้บริการแก่ประชาชน แต่ภาระค่าใช้จ่ายตนเองยังไม่สามารถจัดการได้ จะทำให้คนที่ต้องเผชิญปัญหานี้นั้นหมดไฟ
และทำให้แพทย์บางส่วน ต้องแอบรับจ๊อบไปทำงานตามคลินิกเพื่อให้มีรายได้พิเศษเข้ามาเราจะสามารถแก้ไขอะไรได้หรือเปล่า โจทย์นี้คงต้องยื่นให้รัฐบาลตอบ

สาธารณสุขต่างประเทศ

ความได้เปรียบของการรักษาจากระบบสาธารณสุขไทยเมื่อเทียบกับต่างชาติจะพบว่า ความช่วยเหลือจากภาครัฐของไทยด้านสวัสดิการนั้นสูงกว่าหลายประเทศมาก เช่น พลเมืองอเมริกันหากจะเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพผ่าน 3 อันได้แก่ รัฐบาลเป็นผู้ประกัน บริษัทเอกชนผู้ว่าจ้างเป็นผู้ประกัน และการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตัวเอง ส่วนมากจะเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีนโยบายประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน 

ประชากรกว่า 40 ล้านคนในอเมริกานั้นไม่มีประกันสุขภาพ การเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้นยาก ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้าก่อน ไม่สามารถ Walk in เข้ารักษาโดยตรงได้ แต่ประเทศอื่นที่ทุ่มเทกับสุขภาพของประชาชนนั้นก็ต้องยกให้ไต้หวัน ที่สร้างระบบประกันสุขภาพไต้หวันเป็นแบบ Single-Payer System หรือมี ผู้จ่ายเพียงรายเดียว ซึ่งก็คือรัฐบาลไต้หวันแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากประชาชนต้องจ่ายก็จ่ายน้อยมาก ๆ เพื่อกระจายการรักษาให้ทั่วถึงทุกชนชั้น

ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น ประชาชนต้องทำประกันสุขภาพ ไม่ได้มีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคเหมือนบ้านเรา โรงพยาบาลของเขาไม่รับคนจำนวนมากไปแออัดกันที่โรงพยาบาล การจะเข้าโรงพยาบาลต้องเป็นผู้ที่มีโรคเฉียบพลันหรือประสบอุบัติเหตุหนักเท่านั้น คนที่จะเข้าโรงพยาบาลต้องมีการโทรไปกรอกข้อมูลลงทะเบียนก่อน โทรนัดหมอล่วงหน้า ไม่รับ Walk in ไม่เปิดวันเสาร์ – อาทิตย์ ถ้าไม่เป็นอะไรมากผู้ป่วยบางส่วนจึงนิยมใช้บริการคลินิกขนาดเล็กใกล้บ้านแทน 

ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นอาจดูเข้าถึงยากสำหรับประชาชน แต่ความจริงแล้วเป็นการลดภาระหนักของบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงให้ประชาชนใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคแต่ละครั้งถ้าไม่มีประกันจะสูงพอสมควร 

ในตอนต่อไปเราจะมีเรื่องการจัดการ โควิด-19 ในประเทศไทย, เศรษฐกิจไทย ในสภาวะโรคระบาด และจะขอพาท่านไปคุยกับผู้ที่ประสบกับสภาวะติดเชื้อลงปอด จากโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมสู้ศึกไวรัสมรณะในครั้งนี้ 

ความสำคัญของสาธารณสุข ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตลอดเวลา หากมีมาตรฐานที่ดีพอจะนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนได้ นอกจากนี้สาธารณสุขยังมีแง่มุมในด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งเรารวบรวมมาให้อ่านกัน