ทำความรู้จัก วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย

ทำความรู้จัก วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย

นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเมื่อปลายปี 2562 การพัฒนาและวิจัยวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในไทยก็ได้เริ่มขึ้น โดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ขณะนี้ได้มาถึงขั้นตอนการทดลองโดยมีการประกาศรับอาสาสมัครเพื่อทำการทดลองวัคซีนสัญชาติไทยตัวนี้กับมนุษย์ นับว่าเป็นข่าวดีเลยทีเดียว ทาง MiX Magazine จึงถือโอกาสนี้นำพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับวัคซีนสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนี้

1.เริ่มตั้งแต่ รับการถ่ายทอดกระบวนการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ โดยบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience Co,.Ltd.) ของประเทศไทย เพื่อเป็นการวางรากฐานในไทยพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ลดงบประมาณการจัดซื้อและสามารถส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอีกด้วย

2.การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ประกอบด้วย โครงการศึกษาวิจัยระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน NDV-HXP-S ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มฉีดอาสาสมัครเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจุดเด่น ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัส

3.โครงการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และวัคซีนจาก Moderna ผลศึกษาการทดลองใน “หนู และ ลิง” พบว่ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับสูง ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้ เริ่มศึกษาในมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 มีจุดเด่น คือ สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์

4.โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ชนิด DNA (วัคซีนโควิเจน) โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผลการทดสอบในหนูทดลองพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1

5.การวิจัยของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ที่ใช้ใบยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน หลังจากที่มีการผลิตวัคซีนล็อตแรกเสร็จ จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือน ส.ค. – ก.ย.นี้ 

 

ทำความรู้จัก วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย