หากการสาธารณสุขล้มเหลว พวกเราจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์โควิด-19?

หากการสาธารณสุขล้มเหลว พวกเราจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์โควิด-19?


ภาพการเผาศพผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ในประเทศอินเดีย

หากการสาธารณสุขล้มเหลว พวกเราจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์โควิด-19?

นี่คือคำถามที่แวบเข้ามาในหัวเมื่อ ผมเห็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิช่วยกันนำร่างชายไร้บ้านท่านหนึ่งออกจากพื้นที่!

ช่วงสายวันนี้ (29 เม.ย. 64) ผมจำเป็นต้องออกไปทำธุระแถวแยกบุคคโล และต้องกลับรถที่ใต้สะพานกรุงเทพ ระหว่างทางกลับรถใต้สะพาน มีรถมูลนิธิและรถพยาบาลจอดอยู่ดูชุลมุน ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือเจ้าหน้าที่ช่วยกันนำร่างไร้วิญญาณชายชราท่านหนึ่ง ที่อาศัยนอนใต้สะพานแห่งนี้ ขึ้นแปลและนำเข้ารถตู้

­­ซึ่งจุดนี้ปกติเวลามาทำงานผมจะผ่านเป็นประจำ ที่นี่มีโฮมเลสอาศัยหลับนอนกินอยู่ประมาณ 2-3 คน โดยจะปูเสื่อบ้าง นอนบนเปลพับแนวเปลชายหาดบ้าง หากใครขับรถผ่านก็จะเห็นจนเป็นภาพคุ้นชิน


ภาพตัวอย่างคนไร้บ้านในประเทศญี่ปุ่น

คุณลุงท่านนี้ผมคุ้นเคยกับเขาพอสมควร เพราะเคยให้เงินแกไปซื้อข้าวกินบ้าง หรือเคยเอาข้าวกล่องไปให้แกบ้าง เวลาแกเดินจะเดินกระเผกเพราะมีแผลเรื้อรังที่ขาข้างหนึ่ง ดูด้วยตาคาดคะเนได้ว่าน่าจะเป็นเบาหวาน คาดว่าแกคงติดเชื้อโควิด-19 และนอนจนจากไปอย่างสงบ ณ ที่ตรงนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกัน ทั้งสวมหน้ากากอนามัยแน่นหนา

ณ เวลานี้ ใครเล่าจะสนใจคนจรจัด ขนาดคนในครอบครัวที่รักกันดี เมื่อเสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้ เขายังห้ามเข้าใกล้ ห้ามดำเนินงานศพตามพิธีกรรมเลย ตามข่าวที่เราเห็น เขาจะยกศพเข้าเมรุขึ้นเตาเผาและฌาปนกิจอย่างเร่งด่วน บางวัดอาจมีพระสวดให้ตอนเผา แต่ส่วนใหญ่จะเผาเลย ไม่มีพิธีอะไร

โควิดในไทยระลอกนี้สาหัสมาก หลายคนก็ทราบดีอยู่แล้ว ว่าเตียงในโรงพยาบาลนั้นเต็มหมด คนไข้หลายคนต้องนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลสนามก็เต็มจนล้ม ยาและสมุนไพรหลายชนิดขาดตลาด แม้จะรักษาโควิดไม่ได้ แต่ใครเล่าจะกล้าล้อเล่นกับมัจจุราช นอนรอความตายเฉย ๆ

ในบ้านเรายังถือว่าเกือบเอาอยู่ แต่ยังไม่ถึงกับขั้นวิกฤติอย่างประเทศอินเดีย ที่ตอนนี้ต้องบอกเลยว่าต่อให้สวดภาวนาถึงเทพเจ้าเป็นพัน ๆ องค์ ก็ช่วยยาก

ขนาดหมอที่อินเดียเองยังต้องถอดใจ และอย่างที่เราเห็นในข่าวหลายสำนัก จลาจลและการปล้นสะดมเกิดขึ้นไปทั่วกรุงนิวเดลีแล้วในเวลานี้ ถังออกซิเจนมีค่ายิ่งกว่าทองคำ เราเห็นข่าวปล้นออกซิเจนเกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่

ผมขอยกข่าวของ บีบีซี ไทย มาฉายซ้ำให้เห็นภาพวิกฤตนี้กันอีกรอบ คุณซูติก บิสวาส ผู้สื่อข่าวประจำอินเดียอินเดีย ได้รายงานข่าวผ่านสำนักข่าวบีบีซีว่า ตอนนี้อินเดียเผชิญวิกฤตขาดแคลนออกซิเจน ขณะผู้ป่วยโควิดพุ่งไม่หยุด และผู้ป่วยจำนวนมากกำลังได้รับออกซิเจนโดยใช้มือ

ภาพของผู้ชายสองคนใช้ท่อออกซิเจนร่วมกันปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ที่อินเดีย คนที่ไม่รู้จักกัน ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่เป็นผลพวงของความหละหลวมของประชาชนและความเพิกเฉยของรัฐบาล เขาและเธออยู่ในช่วงขณะที่คาบเกี่ยวกับความเป็นความตาย

คนไข้กำลังเสียชีวิต เพราะว่าไม่มีออกซิเจน ยายังคงขาดแคลนและหาซื้อกันในตลาดมืด มีการซื้อสินค้ากักตุนอย่างตื่นตระหนก ราวกับว่าเรากำลังอยู่ในช่วงสงคราม

ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาชี้แจงอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงก็คือสถานการณ์กำลังแย่ลงเรื่อย ๆ ถังออกซิเจนไม่ได้ช่วยชีวิตคนไข้ในเมืองได้ทันเวลา ไม่มีเตียงและยาก็มีอยู่เพียงน้อยนิด

แม้แต่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนในอินเดียก็ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเหลืออยู่แล้ว

กรุงนิวเดลีเป็นเมืองที่มีบริการด้านการแพทย์ที่ดีที่สุดเมืองหนึ่งในอินเดีย แต่ขณะนี้ 99% ของแผนกผู้ป่วยวิกฤติของโรงพยาบาลต่าง ๆ เต็ม

คนไข้ถูกทิ้งให้ดูแลตัวเอง สำหรับหลายคน มันคือการเดินทางอย่างช้า ๆ ไปสู่ความตาย โควิด-19 เป็นโรคที่มีอันตรายดักอยู่หลายอย่าง

คุณซูติก บิสวาส ยังหยิบยกข้อความจาก คุณพอล คาลานิที ศัลยแพทย์ทางประสาท ซึ่งเขียนไว้ในบันทึกเสียดสีเรื่อง When Breath Becomes Air (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ) "แม้ว่าผมกำลังจะตาย แต่ผมก็ยังมีชีวิตอยู่ จนกว่าจะถึงเวลาที่ผมตายจริง ๆ"

สำหรับเหยื่อที่กำลังจะเสียชีวิตจากไวรัสมรณะนี้ในอินเดียในขณะนี้ พวกเขากำลังจากไปโดยได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นี่คือตัวอย่างสาธารณสุขที่ล้มเหลว วอนผู้มีอำนาจของไทย ได้หยิบตัวอย่างเหตุการณ์ที่กำลังเกิดกับอินเดียมาถอดบทเรียนและเผ้าระวังให้มากยิ่งขึ้น ไม่ให้เกิดกับบ้านเรา ซึ่งเริ่มส่อเค้าร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุดเมื่อสองวันก่อน วันที่ 27 เมษายน 2564 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ของจังหวัดนนทบุรี ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มขึ้นเกิน 100 คนต่อวัน ติดต่อกันมาหลายวัน ทำให้ทางทีมแพทย์สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางจังหวัดต้องประชุมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินกันวันต่อวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตที่มีเตียงรองรับไม่เพียงพอ จนต้องเร่งประชุมช่วยเหลือเคสที่มีผู้ป่วยหนัก 4 ราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นอาจมีโอกาสจะเสียชีวิต สุดท้ายทีมแพทย์จึงต้องตัดสินใจรับผู้ป่วยหนักทั้ง 4 รายนี้ไว้ ทั้ง ๆ ที่เตียงสำหรับผู้ป่วยหนักก็มีไม่เพียงพอ

ส่วนเตียงสนามที่ทางจังหวัดเปิดไว้ 700 เตียง ปัจจุบันเต็มหมดแล้ว เตรียมเปิดเพิ่มอีก 300 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจกับการระบาดในครั้งนี้ว่าเพราะเป็นเชื้อโควิด สายพันธุ์อังกฤษ ที่มีการแพร่ระบาดรวดเร็วและรุนแรง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก จึงขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลง เพราะสถานการณ์ตรงนี้ถือว่าหนักมาก

ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อจากกรุงเทพฯ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะกระจายออกมาเพื่อรักษาตัวต่อในเขตปริมณฑลนั้น ทางจังหวัดนนทบุรีตอนนี้ก็อยู่ในขั้นวิกฤตไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เตียงผู้ป่วยหนักก็ไม่เพียงพอเช่นกัน หากทางกรุงเทพฯ จะส่งมา ทางจังหวัดก็คงต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะทางจังหวัดมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลคนนนทบุรีเป็นหลักก่อน จึงต้องขอความเข้าใจจากทุกฝ่ายด้วย

ตอนนี้พวกเราก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้สายพันธุ์อินเดืย เข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเราเลย เพราะมันน่ากลัวกว่าเดิมอีก
ในสถานการณ์แบบนี้เราคงรอมาตรการจากทางรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่ได้เด็ดขาด

เราต้องพยายามกักตัว เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งและสวมให้มิดชิดตลอดเวลาที่ออกไปข้างนอก ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการสัมผัสทุกชนิด
ขอสติและพลังจงอยู่กับท่าน เรามาช่วยกันเถอะครับ

สุดท้ายขอให้ดวงวิญณาณของคุณลุงโฮมเลส และทุกดวงวิญญาณสู่สุคติ


ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก บีบีซี ไทย และ กรุงเทพธุรกิจ

หากการสาธารณสุขล้มเหลว พวกเราจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์โควิด-19?