ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

คนไร้บ้านมักถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม คงจะดีกว่านี้ถ้าหากมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องลงไปพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุย ว่าแท้จริงแล้วคนไร้บ้านต้องการอะไร ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจังพร้อมทั้งเสนอไอเดียให้คนไร้บ้านรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนดีกว่าเร่รอนไปเรื่อย ๆ โดยไร้หลักแหล่ง แล้วให้พวกเขาสะท้อนความต้องการที่แท้จริงกับสังคม หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร

“ผมเคยทำวิจัยเกี่ยวกับคนจนในเมืองที่อยู่สลัมมาก่อน แล้วหัวข้อสำหรับการทำวิทยานิพนธ์มันค่อนข้างซ้ำ เลยคิดประเด็นใหม่ในหัวข้อคนไร้บ้าน เป็นการศึกษามนุษย์เพื่อให้เข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็น โดยที่ไม่ต้องไปตัดสินเขาว่าเขาดีกว่าหรือแย่กว่า พวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ผมพยายามทลายเส้นแบ่งพรมแดนที่มองไม่เห็นระหว่างเรากับเขา ตอนนั้นวิทยานิพนธ์ เปิดพรมแดน: โลกของคนไร้บ้าน ของผมก็ได้รับเกียรติบัตรวิทยานิพนธ์ดีเด่นแล้วก็ถูกมานำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งก็ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ อุทกพันธ์ รางวัลหนังสือวิชาการดีเด่นประจำปี 2550 ด้วย

“ย้อนไปเมื่อปี 2544 ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ จะเข้าไปคลุกคลีกับคนที่สนามหลวง เมื่อก่อนช่วงรอยต่อระหว่างสนามหลวงให้นอนได้กับปิดสนามหลวง ตอนนั้นยังไม่มีคนที่เข้ามาคุยมาคลุกคลีกับคนไร้บ้าน ช่วงแรกคือการที่เข้าไปคลุกคลีกับคนที่สนามหลวง แล้วคนก็สนใจเรื่องราวระหว่างผมซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยากับความพยายามที่จะเข้าไปสนิทสนมกับคนไร้บ้าน ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจกลุ่มคนใหม่ ๆ

“สมัยนั้นภาพของคนไร้บ้านก็จะถูกมองในแง่ลบมาก ๆ ถูกมองและเรียกแบบมีอคติว่า คนเร่ร่อน คนจรจัด ผมเป็นคนแรก ๆ ที่ใช้คำว่า ‘คนไร้บ้าน’ แทนคำว่า คนเร่ร่อนหรือคนจรจัด ซึ่งเวลาที่พูดถึงคนไร้บ้าน คนก็จะเข้าใจว่า มีการช่วยเหลืออยู่แล้ว จะคิดว่าไปให้กรมประชาสงเคราะห์ช่วยสิ ผมก็เลยต้องเป็นกระบอกเสียงว่าในสายตาของคนที่สนามหลวง พวกเขาไม่ชอบกรมประชาสงเคราะห์หรอกเพราะสิ่งที่กรมประชาสงเคราะห์จัดการในช่วงนั้นไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของเขาอย่างแท้จริง ก็คือจับเขาไปอยู่ในสถานสงเคราะห์

“จากการลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจัง การเป็นคนไร้บ้านมีด้วยกันหลายสาเหตุ ทั้งตกงาน ทั้งมีปัญหากับครอบครัว ทั้งอะไรต่าง ๆ รวมกันเป็นวิกฤตชีวิต ทำให้เขากลายมาเป็นคนไร้บ้านสร้างการรวมกลุ่มของคนไร้บ้าน มันจึงได้เกิดเสียงสะท้อนจากพวกเขา ทำให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมีท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างมาก คือสมัยก่อนตอนที่ผมนอนอยู่ในสนามหลวงจะมีรถปิ๊กอัพติดลูกกรง แล้วก็เรียกเขาขึ้นรถ แล้วพาไปสถานสงเคราะห์ของคนไร้ที่พึ่ง แต่คนไร้บ้านก็จะสะท้อนออกมาว่ามันเป็นสถานกักกัน ไม่มีอิสระ เหมือนกรงสุนัข แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีภาพแบบนั้นแล้ว เลยมีการพูดกันมากขึ้นว่าแล้วอะไรคือสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการอย่างแท้จริง ‘บ้านมั่นคงคนไร้บ้าน’ จึงได้เกิดขึ้น เงื่อนไขมันก็ยังไม่โอเคเท่าไหร่หรอกแต่ว่าดีกว่าเมื่อก่อนมาก 

“องค์กรเอกชนจะมีคนมาทำงานเพื่อคนไร้บ้านมากขึ้น ชวนจิตอาสามาแจกอาหาร แต่ผมว่ายังไม่พอ มันจำเป็นต้องมีความช่วยเหลืออย่างอื่นด้วย สมัยนี้เมื่อคุณพูดถึงจิตอาสาเพื่อคนไร้บ้าน มันจะต่างกับเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนคนจะไม่สนใจคิดว่าก็จับไปสิไม่เกี่ยวกับเรา ส่วนมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคม ก็ได้มีการจัดทำ Shelter Home ทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งระยะยาวเป็นแบบ Long Term Assistance ซึ่งดีกว่าช่วยเหลือแบบ Day to Day คือการให้อาหารแล้วก็จบ

“พูดถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมคนไร้บ้านที่มนิลา ผมสนใจในเชิงเงื่อนไข คือสภาพแย่กว่าเมืองไทย ทั้งคนว่างงาน คนจนเยอะกว่าที่ไทย แต่สิ่งที่มันย้อนแย้งคือ Homeless เขาสามารถสนุกสนานกับชีวิตได้ในขณะที่ตัวเขายากลำบาก เขาสามารถพูดได้ว่า ‘Hard but happy ชีวิตของฉันแม้จะยากลำบากแต่ฉันก็สามารถมีความสุขได้’ ผมก็เลยอยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขของพวกเขาว่าเป็นยังไง
เราจะเห็นรอยยิ้มของ Homeless ในมะนิลา มากกว่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วจะเห็นรอยยิ้มน้อยกว่าหรือแทบจะไม่มีเลย ถึงแม้สภาพทางกายภาพของเขาจะดีกว่าทั้งที่นอนในสวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะสะอาดกว่าในฟิลิปปินส์ ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นมองว่าคนไร้บ้านเป็นความบกพร่องส่วนบุคคลที่ไม่สามารถดิ้นรนมาเป็นคนชนชั้นกลางได้ ดังนั้นสังคมญี่ปุ่นจึงมีท่าทีที่รังเกียจและเลือกปฏิบัติ 

“ผมอยู่ฟิลิปปินส์หลายเดือน ผมเห็นพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงไป ผมเห็นคนไร้บ้านค่อย ๆขยับฐานะ มีการแนะนำกันสำหรับคนไร้บ้านหน้าใหม่ว่าที่ไหนมีข้าวมีอาหารแจก ทั้งโบสถ์คริสต์วัดจีน โบสถ์ซิก แรก ๆ คนก็จะได้ข้าวสารเอาไปขายเป็นเงิน เก็บเงินซื้อบุหรี่ให้ได้เป็นซองแล้วก็มาขายเป็นมวน เพื่อนผมก็ทำเช่นนั้นยังนอนข้างถนนอยู่ แต่ไม่ได้ไปกินข้าวฟรีตามโบสถ์ตามวัดแล้ว ซื้อข้าวกินเอง เป็นการอัพเลเวลตัวเอง สำหรับบางคนก็เก็บของเก่าขายถ้ามีวินัยก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตามร้านอาหารข้างถนน ทำงานเป็นลูกมือเขา 

“สิ่งที่ผมทำคือการกระตุ้นให้สังคมหันกลับมามองคนไร้บ้าน และเข้าใจมากขึ้น เพราะเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งในสังคมเช่นกันครับ ตอนนี้ก็มีหลายภาคส่วนให้ความสนใจมากขึ้นครับ” 

Did You Know
- Houseless คือ คนที่อยู่อาศัยเชิงกายภาพ เช่นคนที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย จะออกไปอยู่นอกบ้านก็รู้สึกว่ามันอันตรายเกินไป เลยจำใจต้องอยู่ คนเหล่านั้นแหละ อาจจะมีที่อยู่อาศัย แต่อาจจะไม่มีบ้าน
- Homeless คนไร้ที่อยู่อาศัย แต่ไม่ไร้บ้าน เช่น คนที่อยู่ข้างถนนจนชิน มีความสัมพันธ์กับคนในละแวกนั้น จนรู้สึกว่าอยู่แล้วปลอดภัยเขาจะมีความผูกพันกับสถานที่ รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน
- กฎของนักมานุษยวิทยาต้องบอกให้รู้ว่าเราเป็นอะไร ลงพื้นที่เพื่ออะไร  
- ถ้าออกจากบ้านเกินสามเดือน คุณจะกลายเป็นโฮมเลสทันที
- เปิดพรมแดน: โลกของคนไร้บ้าน กำลังพิมพ์ออกมาในงานสัปดาห์หนังสือที่จะถึงนี้
- ในประเทศฟิลิปปินส์มีคนจนเป็นจำนวนมาก คนไร้บ้านเลยไม่รู้สึกถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อย

 

 

เสียงสะท้อนของคนไร้บ้าน Reflections on Homelessness โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา