มฆไกร สุธาดารัตน์ : สถาปัตยกรรมเชื่อมคนเมืองเข้ากับธรรมชาติ | Issue 148

มฆไกร สุธาดารัตน์ : สถาปัตยกรรมเชื่อมคนเมืองเข้ากับธรรมชาติ | Issue 148

มฆไกร สุธาดารัตน์  : สถาปัตยกรรมเชื่อมคนเมืองเข้ากับธรรมชาติ

เด็กคนนึงที่มีความหลงไหลในการวาดภาพ แม้อายุยังน้อยเขาก็ไม่เคยละความพยายามในการเดินตามความฝัน ซึ่งการที่เราได้ทำอะไรบางอย่างที่เรารักนี่แหละ ผลลัพธ์ของมันมักสะท้อนออกมาผ่านผลงาน เช่นเดียวกับคุณเจ-มฆไกร สุธาดารัตน์ ที่สะท้อนผลงานการออกแบบผ่านตัวตนและปรัชญาขององค์กร

แรกเริ่มเดิมทีสมัยคุณเจเป็นเด็ก เขาเป็นคนที่ชอบต่อเลโก้ และวาดภาพเป็นอย่างมาก จนพี่สาวของเขาได้เห็นแวว จึงสนับสนุนให้ไปเรียนวาดภาพ เพื่อหาประสบการณ์เผื่อในอนาคตจะได้เรียนสถาปนิก แต่หลังจากที่โตขึ้นเขาได้เรียนรู้ว่า บทบาทของอาชีพสถาปนิกนั้นมากกว่าแค่การวาดภาพ แต่เขาก็ยังยืนยันมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นสถาปนิก มุ่งมั่นแสวงหาความรู้ และฝึกฝนให้มีทักษะที่ดีขึ้นกว่าเดิม

หลังจากเรียนจบด้านสถาปัตย์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาได้มีโอกาสสอบชิงทุน IAESTE Thailand จึงได้ไปฝึกงานแลกเปลี่ยนที่ประเทศ Ireland ต้องมีการปรับตัวอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมภายนอก หรือแม้กระทั่งกับเพื่อนร่วมห้องงานในออฟฟิศที่ไม่มีคนเอเชียเลย จนเวลาผ่านไป 3 เดือน ทางบริษัทก็ได้เห็นความสามารถในการทำงาน เขาจึงได้มีโอกาสรับการชักชวนให้อยู่ยาวต่อจนถึง 1 ปี

“จนมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ The AA (The Architectural Association School of Architecture) ในกรุงลอนดอน ภายหลังจากเรียนจบ ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานออฟฟิศ Zaha Hadid Architects ที่ลอนดอน รวมระยะเวลาทั้งหมดเกือบ 2 ปี แต่สุดท้ายก็กลับมาประเทศไทย เพราะว่าครอบครัวของเราก็อยู่ที่นี่ แล้วเราก็อยากมีอะไรที่เป็นของตัวเอง แต่พอหลังจากที่กลับมา ก็ร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติที่เมืองไทย ที่มี Project ที่มาจากในหลาย ๆ ประเทศ หาประสบการณ์อยู่ 5 ปี จึงเปิดบริษัทของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า Foundry of Space (FOS) ชื่อนี้มาจากวิธีการคิด ความเชื่อ และปรัชญา เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของเราเอง

 

“หากมองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีมาก ที่เป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้มีโอกาสไปทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ผมเองได้เรียนรู้อะไรมามากมายหลายอย่างที่ ส่งผล สิ่งสำคัญคือแรงบันดาลใจที่ได้รับทำให้ผมเราอยากกลับมาทำงานของเราเองให้ออกมาดีที่สุด การได้รับรางวัลทางด้านสถาปัตยกรรมระดับโลก จึงเป็นสิ่งที่ภูมิใจเป็นอย่างมาก จากผลคะแนนโหวตจากคนทั่วโลกสูงสุด ซึ่งทั่วโลกมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 5,000 ผลงาน จาก 100 ประเทศ โดยรางวัลนี้คือ Architizer A+ Awards: Popular Choice Winner ในหมวดศูนย์การค้า (Commercial Shopping Center) ของเมกา ฟู้ดวอล์ค ซึ่งเป็นส่วนขยายของศูนย์การค้าเมกาบางนา โดยได้แนวคิดจากการเชื่อมต่อสังคมเมืองเข้ากับธรรมชาติ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตและพบปะสังสรรค์อย่างลงตัว ซึ่งถึงตอนนี้เราคิดว่ามันนี่แหละเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของผม  เป็นโครงการที่นำเอาความเชื่อ ความคิด ปรัชญา ออกมาเป็นรูปธรรมใกล้เคียงกับคอนเซปต์ของที่เราวางไว้บริษัทผมมากที่สุดชิ้นหนึ่งครับ 

 

“ผมเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมมันอาจไม่ได้เริ่มจากกล่องสี่เหลี่ยม มันอาจจะเป็นของเหลวที่เปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะบริบทต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราปั้นได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราออกแบบไม่ใช่แค่ดีไซน์ Shopping Center ขึ้นมาอย่างเดียวครับ แต่เราพยายามแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปด้วย กรุงเทพฯ มีห้างเยอะมาก กระจายกันทั่วเมือง และถ้าทุกห้างมีสวนขนาดใหญ่แบบนี้ คิดดูว่าพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นมามากขนาดไหน และสภาพแวดล้อมของเมืองในภาพรวมก็จะดีขึ้น นอกจากนั้นมันยังสามารถช่วยแก้แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษในอากาศ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ในระยะยาวได้ด้วย ไม่มากก็น้อย”

คุณเจยังฝากทิ้งท้าย ถึงผู้ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิกว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีการคิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือมลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การวาดภาพสวย หรือแค่เรื่องความงามเพียงอย่างเดียว เราเองจึงต้องมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหาให้กับปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าถ้าทุกคนมีทัศนคติที่ดีและมีความพยายามในวันนี้ สิ่งที่เราทำก็จะเกิดความสำเร็จในอนาคตได้ เช่นเดียวผมได้

 



 More Information
            นอกจากนี้แล้วงานออกแบบของ เมกา ฟู้ดวอล์ค ของเขายังพ่วงอีกหนึ่งรางวัลมา นั่นคือ World Architecture Festival 2018 (WAF Awards 2018) : Highly Commended ในประเภทของ Shopping Center อีกด้วย

 



 Text : Phattaranit & Anusorn
Photo : Nutchanan Chotiphan



        

#MegafoodWalk #Architecture