แบรนด์ไทยก้าวไปข้างหน้า

แบรนด์ไทยก้าวไปข้างหน้า

Goal Setting for Success : แบรนด์ไทยก้าวไปข้างหน้า
พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี

ปัจจุบันเทคโนโลยีในโลกกำลังก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด สำหรับประเทศไทยแล้วเป็นที่น่ายินดีที่ บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด เข้ามามีส่วนแบ่งตลาดกับบริษัทข้ามชาติในสินค้าประเภทคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยแบรนด์ที่เรารู้จักกันดี อาทิ แอนิเทค (Anitech) โนบิ (Nobi) เอจี (aG) และเพนทากอนซ์ (Pentagonz) ที่กำลังเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คุณโธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป คือผู้ที่ปลุกปั้นอาณาจักรธุรกิจแห่งนี้ด้วยตัวของเขาเอง คุณโธมัสเกิดในครอบครัวข้าราชการซึ่งมีความมั่นคงในชีวิตสูง แต่ในเรื่องของธุรกิจกลับกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษา จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคือคุณพ่อของคุณโธมัสเสียชีวิตลงในช่วงที่เรียนอยู่ปี 3 ทำให้คุณโธมัสต้องมองหางานทำเพื่อลดภาระครอบครัว
เหมือนเป็นโชคดีที่มีเพื่อนเป็นชาวฝรั่งเศสกำลังต้องการคนมาช่วยทำบริษัท Start up ในการทำ Modchip เป็น Chip ที่เอาไปใส่ในเครื่อง Console Game, X Box, Play Station เขาจึงบินไปทำงานที่ฝรั่งเศสทันที แต่พอมองต้นทุนการผลิตหากทำที่ประเทศไทยจะมีราคาถูกกว่าหลายเท่า คุณโธมัสจึงกลับมาหาโรงงานผลิตในประเทศไทย จากต้นทุนสินค้าชิ้นละ 1,000 บาท จะเหลือเพียง 60 บาทเท่านั้น เมื่อเริ่มทำไปสักพักก็มีการปรับโมเดลรับจ้างออกแบบและผลิตให้กับ Global Brand ต่าง ๆ ในภายหลังเพื่อความคล่องตัวของการทำงานจึงมีการแยกออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง
ในปี 2006 บริษัท Smart ID Group เปิดตัวขึ้น โดยมีการสร้างแบรนด์ Anitech ขึ้นมา ในขณะเดียวกันแม้จะทำธุรกิจของตัวเองคุณโธมัสก็ยังทำงานประจำกับองค์กรยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีธุรกิจของตัวเองแต่เรื่องของการแชร์ความเสี่ยงด้วยความไม่ประมาทของธุรกิจต้องมีเสมอ และที่สำคัญการอยู่ในองค์กรใหญ่เขาได้เรียนรู้หลักการบริหารมากมายเพื่อเอามาใช้ในบริษัท Smart ID Group จนกระทั่งมีความมั่นใจจึงลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานของตัวเองอย่างเต็มเวลา

“ผมมีความตั้งใจอยู่ 2 อย่างคือสร้างบริษัทให้มีมูลค่าจนขยายกิจการให้กับนักลงทุนหรือ IPO ได้ กับการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา เพราะมองแล้วว่าธุรกิจที่เราทำในทุกวันมีแข่งขันกันสูงมากการรับจ้างผลิต OEM อย่างเดียวจึงไม่น่าคุ้มทุน เราอยากออกมาเบื้องหน้ามากกว่าทำอยู่ข้างหลังแล้วเรื่องของสร้างแบรนด์เขาสู้กันด้วยเวลา หากเริ่มทำวันนี้มันไม่ได้สำเร็จพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มเลย 10 ปีผ่านไปก็ไม่มีใครรู้จักอยู่ดี ถ้าเริ่มก่อนจะได้เปรียบ แบรนด์มันมีมูลค่าที่จะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ 
“จุดเด่นของ anitech คือเราดีไซน์มาเพื่อคนเอเชีย สมัยก่อนสินค้าประเภทคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเม้าท์จะมีสีดำขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่มีสีอื่นและไม่มีไซด์เล็กทำให้ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนักก็ใช้กันไป แต่สมัยนี้มีดีไซด์ที่หลากหลายเราจึงเสนอฟังก์ชั่นและอีโมชั่น สิ่งของเหล่านี้มันสะท้อนความเป็นตัวตนของคนที่ใช้มันได้เป็นอย่างดี 
“จุดเด่นที่สองของเราคือการรับประกันเราเป็นแบรนด์แรกของประเทศไทยที่มีการรับประกันถึง 5 แสนบาท เป็นแบรนด์แรกของประเทศและทวีปเอเชีย เพื่อให้คนซื้อมีความมั่นใจว่าไม่ได้แค่ซื้อได้สินค้าอย่างเดียวเขาได้รับความคุ้มครองไปด้วย เช่น เอาเม้าท์ไปเสียบที่โน๊ตบุ๊ค แล้วโน๊ตบุ๊คเสียถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดจากสินค้าของเรา เรายินดีชดเชยทันที
“อย่างที่สามคือวาไรตี้แบรนด์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ หลายบริษัทมักทำการตลาดแนวดิ่งคือเฉพาะทาง เช่นหูฟังก็ทำแต่หูฟัง แต่ Anitech ทำในแนวกว้างคืออะไรที่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เราทำเกือบทั้งหมด ซึ่งเราเชื่อว่าแบรนด์อื่นไม่ได้คิดแบบเรา การทำสินค้าเฉพาะทางเราอาจสู้เขาไม่ได้แต่เราใช้จำนวนที่เยอะเข้าไปทดแทน
“แน่นอนว่ามีคนที่เห็นตัวอย่างก็อยากทำเหมือนเราคิดว่าแค่นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายมาก็ได้เงินแบบสบาย ซึ่งถ้าเป็นสินค้าตัวเดียวผมคิดว่าประสบความสำเร็จได้ แต่ปัญหาจะมาหลังจากที่มีสินค้ามากขึ้นแล้วจะสับสนเรื่องกำไรต้นทุนจากจำนวนที่เยอะในขณะที่สินค้ามีเข้ามีออกตลอดเวลา 
“เรามีระบบการจัดการที่ดี มีทีมงานประสบการณ์สูงมีระบบซับพรายเชนซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เวลาที่ผมขายของ เช่น เพาเวอร์แบงค์ขายไป 10 อาจจะคืนกลับมา 2 ตัว ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนตัวใหม่ไปให้แล้วจบ แต่ต้องหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร เพราะอีก 8 ตัวที่ยังไม่ถึงมือลูกค้ายังวางขายอยู่หน้าร้านซึ่งมันอาจเสียทั้งล็อต ซึ่งต้องหยุดมันไว้ก่อน การบริหารกับทีมงานจึงสำคัญมาก
“ในเรื่องขอการทำธุรกิจผมอยากแนะนำว่าสมัยก่อน Passion มันไม่ได้อยู่ในสารบบของคนทำธุรกิจ แต่พวกเขามองถึงโอกาสอยากหลุดพ้นจากความลำบากความยากจน แต่ตอนนี้คำว่า Passion มันกลายเป็นแกนหลักอย่างหนึ่ง การทำธุรกิจมี Passion มีเงิน หรือมีความสามารถอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีหลายอย่างประกอบกัน 
“ในอนาคตผมตั้งเป้าหมายว่าจะเอาบริษัทเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ MAI จากนั้นไป SET ภายใน 10 ปีมี Market Cap 1 หมื่นล้านบาท ผมคิดว่าคนเราต้องมีเป้าหมายแต่จะทำได้หรือไม่ให้เป็นเรื่องอนาคต แต่ปัจจุบันตอนนี้หน้าที่ผมคือพัฒนาคนในองค์กรให้มีคุณภาพและดึงคนเก่งมาทำงานเพื่อช่วยให้บริษัทเติบโตขึ้นจนวันหนึ่งที่มีคนเก่งและเหมาะสมขึ้นมาผมอาจวางมือไปทำหน้าที่อื่นแต่ต้องแข่งขันกันก่อนเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดกับองค์กรต่อไป” 

•    คุณโธมัสจบการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัยการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
•    งานอดิเรกของคุณโธมัสคือ ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ นอกจากนี้ยังมีการเล่นดนตรีอย่างเบสกีตาร์ และร้องนำ

TEXT :  : Passaponge Prerajirarat 
ช่างภาพ : Sutchaphon Rungwichitsin

 

#mixmagazinethailand