ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์

ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์

รากเหง้าของชนชาติไทยที่ถูกสืบทอดกันมายาวนานอย่างหนึ่งคือเรื่องของนาฏศิลป์ สะท้อนเรื่องราวของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมธรรมที่แสดงออกมาโดยตลอด ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยก็ได้รับองค์ความรู้สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ก็เป็นหนึ่งของบุคคลากรที่มีความสามารถหลากหลายในเรื่องราวของนาฏศิลป์ ตั้งแต่การเป็นครู นักแสดงละคร หรือแม้กระทั่งอดีตฝ่ายบริหารอย่าง คณบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ปัจจุบันท่านคือผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย นับได้ว่าท่านเป็นครูที่มีฝีมืออีกท่านที่มีความสามารถสูง การันตีได้จากรางวัลสำคัญโดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. 2548 ที่ได้รับเมื่อ 12 ปีก่อน สร้างความประหลาดใจให้กับวงการศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เพราะสมัยนั้นท่านถือว่าเป็นคนหนุ่มไฟแรงเมื่อเทียบกับศิลปินที่ได้รับ
คัดเลือกรางวัลอันทรงเกียรตินี้ 

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติเลย ในรุ่นของผมสมัยนั้นจะมีหน่วยงานที่คอยเสนอผลงานของศิลปินต่าง ๆ ให้กับคณะกรรมการ บังเอิญโชคดีตรงที่มีคนขอประวัติและผลงานไปส่งเสนอ ก็อาจเป็นเรื่องของโชคชะตาและความเมตตาของครูบาอาจารย์ที่ท่านมองเห็นว่าผมทำอะไรมาบ้าง พอประกาศผลออกมาผมก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในวัย 50 ปี พอดี 

“มีคนเล่าให้ฟังว่าติดอยู่เพียงแค่ประเด็นเดียวคือเรื่องของวัยวุฒิที่อาจจะน้อยไปรึเปล่า แต่บางท่านก็บอกว่าทางราชการมองเรื่องขององค์ความรู้ที่ผมมีเพื่อเอาไปยอดทำประโยชน์ในหลายวาระหลายโอกาสที่ยาวนานมากกว่า เลยคัดเลือกคนที่อายุกลาง ๆ อย่างผมเข้ามา แล้วผมก็อุทิศตัวเองให้กับนาฏศิลป์มาอย่างต่อเนื่องจริงจังหลายปีเพราะเราถือว่าการได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติอย่างมาก เหมือนเป็นการการตอบแทนสิ่งที่เราทำทุ่มเทและให้ความรักในนาฏศิลป์มาโดยตลอด” 

เรื่องราวความเป็นมาชีวิตของ อาจารย์ศุภชัย ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะท่านเริ่มต้นและดำเนินชีวิตของตัวเองในเส้นทางของวงการนาฏศิลป์มาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในวัยเด็กท่านเกิดและเติบโตในย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร สมัยก่อนไม่ค่อยมีสื่อบันเทิงมากนักเมื่อมี ลิเก งิ้ว หรือละคร มาเปิดการแสดงใกล้บ้านท่านจะตามครอบครัวไปชมเสมอ และเมื่อกลับมาบ้านก็จะทำท่าทางเลียนแบบตัวละคร นับได้ว่าความชื่นชอบในเรื่องของศิลปะการแสดงฝังเข้ามาตั้งแต่เด็กโดยปริยาย

พอเข้าเรียนในระดับชั้นประถม เมื่อโรงเรียนมักมีกิจกรรมการแสดงก็นำเด็กนักเรียนเข้าร่วมแสดง ซึ่งอาจารย์ศุภชัยในวัยเด็กมักได้รับเลือกให้เป็นนักแสดงละครเสมอ พอเรียนจบชั้นประถม 4 เมื่อแน่ใจว่าตัวเองชอบในสายนี้ทางครอบครัวจึงให้มาสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ โดยการเรียนจบหลักสูตรสมัยนั้นจะมีระยะเวลาถึง 11 ปี เริ่มตั้งแต่ระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นเรียน 6 ปี ระดับนาฏศิลป์ชั้นกลางเรียน 3 ปี และระดับนาฏศิลป์ชั้นสูงเรียน 2 ปี 

วันแรกที่อาจารย์ศุภชัย เข้าเรียนในระดับชั้นต้นปีที่ 1 มีการคัดเลือกลักษณะบุคลิกว่าใครจะรับบทเป็นตัวละครใดซึ่งแนวทางโขนจะมีตัวพระ ตัวยักษ์ ตัวลิง สรุปแล้วท่านได้เป็นตัวพระ ทำให้ท่านต้องฝึกฝนในสายนี้เรื่อยมา อาจารย์ศุภชัย ศุภชัย ฝึกพื้นฐานนาฏศิลป์กับอาจารย์อุดม อังศุธร หลายอย่างทั้งเรียนเพลงช้าเพลงเร็ว โดยในช่วงเช้าจะฝึกเรื่องของนาฏศิลป์และในช่วงบ่ายเรียนวิชาสามัญทั่วไป เมื่อเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็ได้รับคัดเลือกให้ออกแสดงบทบาทพระราม ตอนนางลอย นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้แสดงบทบาทของตัวละครเด็กอย่าง พลายแก้ว สินสมุทร หรือ พลายงาม จนกระทั่งหลายปีผ่านไปท่านศึกษาด้านนาฏศิลป์จนครบหลักสูตรก็ถึงทางเดินใหม่ที่ต้องเลือกอีกครั้ง

“สมัยนั้นคนที่จบด้านนี้จะมีเพียงสองทางคือถ้าอยากเป็นศิลปินก็ต้องสอบบรรจุไปอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากรหรือกองงานสังคีตในปัจจุบัน กับอย่างที่สองการสอบบรรจุเป็นครูสอนนาฏศิลป์ ผมเลือกทางที่สองเพราะการเป็นครูได้นำความรู้ที่ได้รับจากครูบาอาจารย์มาให้ลูกศิษย์ได้ตลอด

“เมื่อรับราชการครูหน้าที่หลักของผมคือการสอนเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันพอมีงานของวิทยาลัยผมก็ต้องมาเป็นนักแสดงด้วย ผมเลยมีงานทั้งสองอย่างควบคู่กันไป วันธรรมดาผมสอนตามปกติพอถึงวันเสาร์อาทิตย์ก็ไปเป็นนักแสดง อย่างเรื่องผู้ชนะสิบทิศก็แสดงติดต่อกันหลายปีหลายรอบ ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับผมมากที่สุด คือการแสดงในยุคนั้นเรียกว่าได้รับความนิยมขนาดมีคนมานอนรอจองตั๋วเพื่อจะเข้าชมซึ่งในแต่ละรอบคนแน่นมาก 

“ละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศนี้เองทำให้คนเข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับนักแสดงมากขึ้น เดิมทีเวลาคนดูโขนละครจะมีการชื่นชมแบบปกติ แต่ว่าเรื่องนี้ทำให้คนที่ชื่นชอบเป็นแฟนละครเข้ามาถึงขั้นว่าวันเสาร์อาทิตย์ต้องเล่นสองรอบ บางคนดูหลายรอบก็ยังมาอีก บางคนก็จัดอาหารมาเลี้ยงนักแสดงทั้งโรงก็มี หรือบางคนก็ให้ดอกไม้ขนมข้าวต้มอะไรแบบนี้ก็มี

“สาเหตุที่คนชื่นชอบการแสดงมากอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง คือแต่เดิมละครพันทางจะมีข้อจำกัดเช่นเรื่องของภาษา ถ้าเป็นตัวมอญต้องพูดสำเนียงมอญ ดนตรีก็ต้องมอญ แต่ว่าละครเรื่องนี้ปรับโฉมใหม่เน้นการแสดงแอคติ้งเหมือนละครเวทีมีเพลงเพราะ ถือว่าเป็นความแปลกใหม่สำหรับคนในยุคนั้น สร้างชื่อเสียงให้กับกรมศิลปากรแม้กระทั่งตัวผมเองก็ได้รับความนิยมตามไปด้วย

“ตัวละครที่ผมได้แสดงแล้วชอบมากที่สุดคือมังตราจากนิยาย ผู้ชนะสิบทิศนี่แหละ เพราะเราต้องถ่ายทอดกระบวนท่ารำ ขณะเดียวกันเราต้องมีแอคติ้ง มีอารมณ์ของละคร แม้จะไม่ใช่พระเอกไม่ใช่ตัวร้ายแต่เป็นตัวเอกที่มีหลายอารมณ์มากเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นลูกกษัตริย์ที่มีอำนาจมากยิ่งช่วงหลังมีมเหสีก็จะมีเรื่องราวมากมาย รักใครรักจริง แต่เวลาโกรธก็จะเกรี้ยวกราด เป็นตัวละครที่ทั้งรำทั้งแสดงบทบาทความรู้สึก มันเหมือนกับว่าผมได้แสดงความสามารถ ได้นำวิชาความรู้ที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดได้นำมาใช้มากที่สุดด้วย

“ชีวิตของผมจึงเป็นทั้งครูและนักแสดงจะทำควบคู่กันไปซึ่งพอทำงานไปได้สักพักผมก็ไปเรียนต่อปริญญาตรี คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พอเรียนจบก็กลับมาสอนเหมือนเดิมแสดงละครเรื่อย ๆ พอทำงานราว 10 ปีก็มานั่งคิดว่าตัวเองควรพัฒนาทางด้านวิชาการให้มากขึ้น จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทอีกใบก็คิดว่าจะไปเรียนทางด้านศิลปศาสตร์อีก แต่เมื่อปรึกษากับครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่าเรามีพื้นทางด้านนี้มากพอยู่แล้วจะไปเรียนในด้านเดิมทำไม ผมก็เลยตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

“หลังจากนั้นอีกราว 10 ปีผมก็เข้าเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาทางด้านวุฒิทางวิชาการจนกระทั่งผู้ใหญ่เห็นว่าผมพอมีคุณสมบัติเพียงพอจึงแต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

“การได้มาเป็นฝ่ายบริหาร พูดกันตรง ๆ ความจริงผมไม่ค่อยถนัดนักผมชอบสอนการแสดงให้กับลูกศิษย์มากกว่า ส่วนการเป็นนักแสดงผมชอบเป็นลำดับสูงสุด แต่การมามีส่วนร่วมในการบริหารตรงนี้ถือว่ามีภาระค่อนข้างเยอะแต่เนื่องจากว่าผู้ใหญ่ให้โอกาสเราจึงต้องทำให้ได้อะไรที่เราทำไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ไป 

“ผมอยู่มาจนกระทั่งอยู่มาครบ 4 วาระ ที่ผ่านมามีปัญหาให้แก้ไขเยอะมากครับ อย่างแรกคือมันเกิดจากความไม่พร้อมหลายด้านในยุคนั้นเช่นเรื่องของอาคารสถานที่ เรื่องบุคลากรก็มีน้อย ส่วนงบประมาณเราก็ใช้เท่าที่ได้มา ปัญหาเรื่องหลักสูตร และอะไรหลายๆ อย่าง ที่เราไม่ทราบก็ได้เรียนรู้กันไป คือมันไม่เหมือนระบบอุดมศึกษาในปัจจุบันซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมากแล้ว แต่เราก็แก้ไขปัญหาและปรับตัวจนผ่านมาด้วยดี 

“ระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผมเป็นคณบดี ผมไม่เคยสวมบทบาทการเป็นคณบดีอย่างเต็มร้อย จะเป็นก็ในส่วนของความรับผิดชอบในงานเท่านั้น เพราะในอีกด้านหนึ่งผมก็ยังเป็นครูเพราะมีวิชาสอนนักเรียนด้วย ยิ่งตอนนี้ผมเกษียณแล้วก็สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

“จากมุมมองนาฏศิลป์ความหมายของคนทั่วไปที่จะนึกถึงคือเรื่องของการรำ แต่ความจริงมันมีสิ่งที่ลึกซึ้งกว่าไม่ใช่แค่การรำอย่างเดียว เพราะต้องประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์ของการแสดงอย่างเราชมโขนหรือละครมันจะประกอบไปด้วยวรรณกรรม วรรณศิลป์ บทประพันธ์ คำร้อง ดุริยางค์ศิลป์ คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ ฉากเครื่องแต่งกาย แต่ถ้าพูดถึงนาฏศิลป์แก่นหลักของมันจริง ๆ  ก็คือศิลปะแห่งการฟ้อนรำนั่นเอง

“และถ้าพูดถึงเรื่องราววงการนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันเหมือนเป็นวัฏจักร ตอนนี้มีการยอมรับในสังคมมากขึ้นจากการที่มีองค์กรเข้ามาช่วยอุปถัมภ์ถึงแม้ว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่อย่างน้อยเรามีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหลักในการให้ความสำคัญตรงนี้ สถาบันของเราอาจไม่เหมือนกรมอื่นอย่างทหารหรือพยาบาลที่ผลิตร้อยใช้ร้อย มันก็เลยเหมือนยังไปได้ไม่สุดทาง แต่ว่าการพัฒนามันดีขึ้นหลายคนให้ความสนใจเห็นได้จากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรนาฏศิลป์กันเยอะขึ้น แม้กระทั่งโรงเรียนเอกชนก็มีเด็กเข้าไปเรียนมากกว่าแต่ก่อนพอสมควร แต่มันควรจะมีอะไรเสริมอีกมิติหนึ่งจะดีขึ้นมากทีเดียว

“ทุกวันนี้หลายส่วนก็พยายามปรับเปลี่ยนให้นาฏศิลป์เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นเช่น จากเดิมที่เล่นโขนกัน 3 ชั่วโมงกว่า ๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็ปรับให้กระชับ มีการรวมเอาละครตัวเอกเข้ามาภายในระยะเวลาไม่นานนัก ให้เด็กได้รู้เลยว่าหนุมานเกิดมาจากไหน ไปทำอะไรและสุดท้ายเป็นอย่างไร ทำเป็นตอน ๆ ย่อเนื้อเรื่องให้สั้นลง แต่ว่าไม่ทิ้งจารีตหรือว่าองค์ความรู้เดิม แล้วพยายามส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามาในงานศิลปะมากขึ้น

“อีกด้านหนึ่งที่วงการศิลปวัฒนธรรมดนตรีนาฏศิลป์ไทยยังคงอยู่ได้เพราะเราโชคดีที่มีเจ้านายทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านให้ความสำคัญมากในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมตรงนี้ นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านทรงเห็นคุณค่าและส่งเสริมมาโดยตลอดเช่นกัน

“โดยงานสำคัญที่สุดงานหนึ่งในชีวิตของผมก็คือ ได้มีส่วนร่วมในงานแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  แม้บางช่วงจะหายไปจนกระทั่งมีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้นงานมหรสพสมโภชจึงเปรียบเสมือนการเฉลิมฉลองการเสด็จกลับสู่สวรรค์ รวมถึงยังเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน

“ผมรับผิดชอบเป็นผู้กำกับการแสดงและดูแลเรื่องของละคร ที่ทางกรมศิลปากรมอบโจทย์มาให้ 2 เรื่องคือละครอิเหนากับมโนราห์ ซึ่งจะต้องบูรณาการกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญศิลปินที่มีอยู่มากมายให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ส่วนเรื่องโขนก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ระดมคนกันมาช่วยเหลือกันทั่วภูมิภาคเช่นกัน 

“การแสดงในงานหน้าพระเมรุมาศครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งใด มันมีความรู้สึกรู้หลายอย่างผสมกัน คือเราภูมิใจที่เป็นเกียรติได้มาทำงานตรงนี้ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใช่ใครจะเข้ามาทำได้ แล้วเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายคือเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ได้จริงๆ ที่สำคัญเวทีละครเป็นเวทีที่ใกล้พระเมรุมาศกว่าเวทีอื่น ๆ แล้วยิ่งเมื่อเวลามีเจ้านายเสด็จมาชมตรงนี้มันคือเกียรติประวัติที่เราต้องทำงานถวายสูงสุดในชีวิต 

“พวกเราได้ทำในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริในเรื่องของของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ให้ลูกหลานให้เป็นสมบัติของชาติ พอเราได้ทำตรงนี้ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมจะมีความรู้สึกเหมือนกัน คือผมพูดได้คำเดียวว่าเกิดมาแล้วได้ทำงานตรงนี้ไม่เสียชาติเกิดจริง ๆ ครับ” 

Know Him
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์
•    เมื่อ พ.ศ. 2526 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะนาฏศิลปและดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล)
•    พ.ศ. 2537 จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    พ.ศ. 2548 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    ท่านสวมบทบาทศิลปินผู้แสดงมีมากมายอาทิ
    • รามเกียรติ์, พระราม พระลักษมณ์
    • ผู้ชนะสิบทิศ, มังตรา
    • อิเหนา, อิเหนา กระหมังกุหนิง ย่าหรัน
    • มโนห์รา, พระสุธน
 

ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ผู้ถ่ายทอดแก่นแท้นาฏศิลป์