ประสพสุข รัตน์ใหม่

ประสพสุข รัตน์ใหม่

อาจารย์ประสพสุข รัตน์ใหม่ คือ ผู้อำนวยการกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ถวายงานดูแลจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่รวบรวมเอาช่างประติมากรรมมืออาชีพและจิตอาสาสมัครชั้นดีของประเทศมารวมตัวกันสร้างงาน

อาทิ งานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ช้าง 10 ตระกูล พระพิฆเนศ ครุฑยืนองค์ พระพรหม พระอินทร์ พระศิวะ และพระนารายณ์ ฯลฯ ซึ่งนับได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และท้าทายด้วยเวลาจำกัดกับความคาดหวังของงานปั้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วออกมาอย่างสมบูรณ์สวยงามสมพระเกียรติ

แม้บุคลิกภายนอกของอาจารย์ประสพสุข รัตน์ใหม่ จะดูเงียบขรึมพูดน้อย แต่ด้วยฝีไม้ลายมืองานประติมากรรมรูปแบบเหมือนจริงของท่านถือว่าไม่ธรรมดาโดยเฉพาะผลงานประติมากรรมอนุสาวรีย์และบุคคลสำคัญ ที่ฝากไว้ตามจุดสำคัญของเมืองมากมาย ผลงานของท่านจึงมีให้เห็นมากกว่าชื่อของคนสร้าง อาจเพราะด้วยความที่ชอบทำงานอย่างสงบไม่เปิดเผยออกสื่อมากนัก ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้จักตัวตนของปรมาจารย์งานปั้นเสมือนจริงท่านหนึ่งของประเทศไทย อาจารย์ประสพสุข รัตน์ใหม่ เกิดที่จังหวัดนครราชสีมามีพี่น้อง 5 คน ท่านเป็นลูกคนที่ 4 มารดามีอาชีพทำนาและทำขนมไทยขาย บิดามีอาชีพเป็นพนักงานรถไฟแต่กลับมีความสามารถในด้านงานศิลปกรรมในการเขียนอักษรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังซ่อมแซมงานที่สึกหรอภายในโบสถ์อยู่เป็นประจำ ตรงจุดนี้เองอาจารย์ประสพสุขในวัยเด็กจึงได้ซึมซับเรื่องราวของศิลปะมาจากคุณพ่อนั่นเอง

“ในช่วงเวลาหนึ่งนอกจากผมจะอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้ว ผมยังมีโอกาสได้ไปอยู่กับคุณปู่คุณย่า ความต่างก็คือที่นั่นตอนเย็นจะเคร่งศาสนามาก โดยให้พระมาสวดมาเทศน์นอกจากนี้ยังมีการถือศีลนั่งสมาธิ สมัยเป็นเด็กผมก็จะนั่งสมาธิหลับไปเลย ซึ่งผมได้บรรยากาศอันเงียบสงบแบบนั้นมามันก็มีส่วนให้นิสัยผมใจเย็นจนถึงปัจจุบันเหมือนกัน

“พอเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ผมเริ่มชอบการเขียนภาพก็เขียนทุกอย่างแต่ที่ชอบที่สุดคือการวาดภาพดารา ในสมัยนั้นที่ดังที่สุดก็คือ คุณสมบัติ เมทะนี ผมไม่ได้มีใครมาสอนให้ก็ฝึกฝนเขียนภาพตามประสา เป็นการ Drawing ในสมุดแบบเด็ก ๆ ยิ่งเขียนภาพไปเท่าไหร่ก็มองว่ามันดูแล้วสวยงามมีความสุขดูแล้วก็ไม่เบื่อ ซึ่งผมก็เก็บภาพนั้นเอาไว้สักระยะหนึ่ง

“เมื่อเรียนจบ มศ.3 ด้วยความที่ผมรู้ตัวเองแล้วว่าชอบงานศิลปะมาก ผมก็บอกที่บ้านว่าจะเลือกเรียนศิลปะ เพราะตั้งเป้าไว้เลยตั้งแต่แรก แต่ด้วยในยุคนั้นคนเรียนศิลปะไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ก็มีเสียงจากญาติที่เขาหวังดีต่ออนาคตของเราว่า เรียนจบมาแล้วจะไปทำอะไรกินคืออยากให้ไปเรียนอย่างอื่น เพราะศิลปะเรียนจบมาอย่างมากก็ไปเขียนภาพอยู่ตามโรงหนัง พวกเขาคงเห็นว่าอนาคตคงไม่มั่นคงแต่นั่นคือความคิดของเขา

“ผมตัดสินใจเข้าเรียนระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา การเรียนที่นี่ไม่ได้แบ่งแยกประเภทของศิลปะ คือเรียนพื้นฐานทุกอย่างเกี่ยวกับงานศิลปะ ทั้งจิตกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ฯลฯ พอได้เรียนรู้ด้านพื้นฐานและเทคนิคที่มีการสอนผมก็ทำงานด้านศิลปกรรมในระดับพอใช้ได้ โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากท่านอาจารย์ที่สอนเน้นในเรื่องของรายละเอียดที่ลึกซึ้ง เป็นการเรียนทักษะตามที่ท่านอาจารย์ได้สอนมาโดยตลอด

“การเรียนที่นี่ทำให้ผมโตขึ้นและเปิดโลกของงานศิลปะมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะหลังจากผมเรียนจบวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีโอกาสกลับไปบ้านคุณปู่คุณย่า แล้วได้ไปค้นเจองานศิลปะเก่า ๆ สมัยชั้นประถมของตัวเองคือภาพที่ผมเคยวาดภาพคุณสมบัติ เมทะนี เชื่อไหมตอนที่ผมเจอมานั่งนึกตั้งนานว่านี่คือรูปของใครเพราะมันดูไม่เหมือนคุณสมบัติเลย คือหลังจากเราเรียนศิลปะเรามองงานศิลปะออก แต่ช่วงที่เราไม่เคยเรียนความรู้สึกมันเหมือนมาก คือมุมมองมันต่างกันจริง ๆ

“จากนั้นผมก็เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ในระดับ ปวส. ซึ่งก่อนหน้านี้ผมพอเขียนงานจิตรกรรมได้ก็คิดว่าจะเรียนแนวนี้แหละ แต่พอมาเรียนที่นี่ผมก็ตัดสินใจเลือกเรียนประติมากรรมแทน เหตุผลของผมคือเนื่องจากที่บ้านไม่ค่อยมี
ทุนทรัพย์มากนักทำให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งผมเรียนค่อนข้างเยอะ คือถ้าเรียนจิตกรรมต้องซื้อของเช่น สี พู่กัน กระดาษ สิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาในการเรียน ผมเลยขอเปลี่ยนเป็นเรียนงานประติมากรรมแทน ซึ่งที่เพาะช่างจะมีดินเตรียมไว้สำหรับงานปั้นอยู่แล้วไม่ต้องซื้อ เราก็สามารถเอาดินขึ้นมาทำงานได้เลยโดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เหลือแต่แรงและพลังในการทำงานของเราเท่านั้น

“หลังเรียนจบผมไปหาประสบการณ์ 1 ปี แล้วมาเรียนต่อปริญญาตรีเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ จนจบจากนั้นก็มาสอบเข้าสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากรจนถึงปัจจุบัน” ถ้าพูดถึงงานปั้นนั้นมีหลายประเภทตั้งแต่ ประติมากรรมนูนต่ำ ประติมากรรมนูนสูง ประติมากรรมลอยตัว งานสมัยใหม่ ปริมาตร แสง เงา แต่งานของอาจารย์ประสพสุขเป็นแนวอนุสาวรีย์ประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลสำคัญ ที่ถือว่าต้องเก็บรายละเอียดทุกอย่างให้เหมือนตัวแบบมากที่สุด 
จะพลาดในส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้เลย...

“ปัจจัยหลักที่ทำให้งานรูปเหมือนบุคคลสำคัญออกมาได้ คือต้องมาจากพื้นฐานการวาดเส้น Drawing กายวิภาค ที่ต้องเก็บความละเมียดละไมพยายามจะทำให้เหมือนจริงมากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรมต้องใช้หลักการเดียวกัน แต่ในงานประติมากรรมที่ผมทำเป็นงาน 3 มิติ คือทำงานรอบตัวให้เห็นทั้งหมด 360 องศา ความยากคือต้องทำทุกองศาของงานให้สมบูรณ์แบบ เวลาทำงานนักปั้นจึงไม่ค่อยได้นั่ง แต่จะมีระยะในการถอยเข้าออกตลอดเวลา สมมุติถ้ามีงานใหญ่เราต้องถอยเพื่อเล็งให้สเกลมันพอดี ซึ่งมันมีปัจจัยหลายอย่างในการปั้นตั้งแต่อากาศ แสง และพื้นที่ที่จะทำให้งานประติมากรรมออกมางดงาม

“เมื่อเราทำงานปั้นสามารถขึ้นรูปกายวิภาค (Anatomy) ได้เสร็จแล้ว ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องของการแต่งกาย นักปั้นจำเป็นต้องหาความรู้มาแล้ว เช่นการปั้นกษัตริย์เรื่องของฉลองพระองค์ต้องมองให้ออกว่าเป็นแบบใด ชนิดไหน เราจะไปหาผ้ามาศึกษาเพราะผ้าแต่ละชนิดมีความหนาบางไม่เท่ากัน เพราะเส้นมันเกิดบนโครงสร้างภายในมันจะเป็นบ่อเกิดของเส้นภายนอกที่ออกมา

“ถ้าผ้าบางจะแนบเนื้อผ้าหนาจะโปรงเส้นใหญ่ขึ้นซึ่งมันเป็นลักษณะของผ้า แต่เวลาปั้นจริงเราก็ไม่ได้ใส่รอยยับรอยย่นทั้งหมด แต่จะรักษาโครงใหญ่ ๆ ของจุดประธานสำคัญเอาไว้ บางครั้งเราอาจตัดทอนเอาส่วนที่สำคัญแต่ให้พอมีอารมณ์ในส่วนของผ้าอยู่ ซึ่งเวลาเราเข้ามาทำงานใหม่ ๆ จะมีครูบาอาจารย์รุ่นพี่ให้คำแนะนำอีกหลายด้านอย่างทั้งเรื่องของเหรียญ ตราประดับยศ เราก็ไปหาของจริงมาศึกษา เมื่อก่อนอาจไม่ต้องละเอียดนักแต่ปัจจุบันเน้นความถูกต้องผิดพลาดไม่ได้

“คนที่ทำงานปั้นนั้นต้องใช้พลังในการทำงานค่อนข้างสูงกว่างานศิลปะชนิดอื่น คือมันต้องขุดดินออกมาจากอ่างใช้มือนวดดินให้เข้าที่จนกว่าจะเหมาะกับงานปั้นแล้วที่สำคัญต้องยืนนานมาก ถ้าคนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ จะเริ่มปวดขา เพราะงานปั้นใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จจึงต้องมีความอดทนค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังต้องใช้ความเพียรและทักษะฝีมือการทำงานที่เชี่ยวชาญงานถึงออกมาสำเร็จได้    

“อุปสรรคในการทำงานของผมมีเพียงปัญหาเล็กน้อยที่สามารถแก้ได้ แต่ส่วนใหญ่มันมาจากการทำงานในจุดเริ่มต้นอย่างเรื่องของโครงสร้างมากกว่า คือเวลาขึ้นดินอาจให้ความสำคัญน้อยเกินไปไม่ได้ควบคุมตรงส่วนนี้พอขึ้นดินไปแล้วก็ทำได้ไม่สมบูรณ์เพราะเราลืมเรื่องของโครงสร้าง หลังจากนั้นต้องเอามาปรับเมื่อเป็นรูปร่างแล้ว ซึ่งคนอื่นที่ทำงานปั้นผมก็เห็นว่ามีปัญหาอยู่เหมือนกันแต่ก็สามารถแก้ไขกันได้ ส่วนเรื่องของอากาศความร้อนก็เป็นอยู่ตลอด อย่างดินแห้งแตกร้าว บางครั้งก็หล่นลงมาก็มี แต่ตอนนี้ผมอยากคิดให้มันเกิดขึ้นคือเรื่องของนั่งร้านที่เป็นระบบไฮดรอลิค ให้ปรับขึ้นลงได้โดยไม่ต้องปีนซึ่งมีความปลอดภัยมั่นคงมากกว่าเดิม

“ครูบาอาจารย์เขาจะสอนให้เราทำงานด้วยอารมณ์ที่มีจิตวิญญาณมีความรู้สึก งานทุกชิ้นที่ผมได้ทำมันก็มีจุดที่เราอยากให้มันมีชีวิตมีลมหายใจอยู่ในนั้น ซึ่งผมได้พยายามถ่ายทอดมันออกมาให้มากที่สุดจากทักษะความชำนาญที่ผมได้เรียนรู้และปฏิบัติงานมาหลายปี จากความชอบในงานพอถึงวาระที่ต้องมาอยู่ตรงนี้หน่วยงานรัฐมีงานมอบหมายอะไรมาผมก็ไม่ปฏิเสธแต่จะขอหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะมันใช่งานของผมคนเดียวแต่มันเป็นงานและสมบัติของชาติ

“หน้าที่หลักของผมคือทำงานประติมากรรมอนุสาวรีย์ งานจะเป็นแนว Realism สร้างงานที่เหมือนจริง หรือกึ่ง Realism ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตก็ได้แต่เราจะพัฒนาไปอย่างไรนี่คือเรื่องท้าทายในอนาคต ศิลปินบางคนเขาอิ่มตัวจากแนวนี้แล้วก็มักจะฉีกไปทำงานแนวอื่น แต่ผมจะยังทำงานรูปปั้นที่เคารพ รูปปั้นเทิดพระเกียรติในความสมจริงอยู่ ก็พยายามพัฒนาผลงานของตัวเองตลอดเวลา”

แม้อาจารย์ประสพสุขจะผ่านการทำงานประติมากรรมมาอย่างโชกโชนแต่งานที่ถือว่า ต้องทุ่มเทสุดชีวิตเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คืองานดูแลจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะงานปั้นพระนารายณ์เสมือนพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นความงดงามที่ถ่ายทอดให้ทุกสายตาได้ชื่นชม

โดยงานชิ้นนี้มาจากแนวคิดและความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าพระมหากษัตริย์ คือร่างอวตารของพระนารายณ์ที่ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อปกครองคนในชาติให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น อาจารย์ประสพสุขจึงเลือกปั้นพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวัยหนุ่มขึ้นมา นับได้ว่ามีเป็นความงดงามในการผสมผสานรูปแบบการปั้นอย่างแท้จริง

“ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมนั่งคิดว่าถ้าเราปั้นรูปพระนารายณ์ออกมาจะทำอย่างไรให้ท่านเป็นสมมุติเทพ ถ้าไปปั้นหน้าอื่นก็คิดว่าคงไม่ใช่ ก็เลยนำเอาพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เข้ามา คือผมพยายามถ่ายทอดให้ทุกคนเห็นว่าพระองค์ท่านยังคงอยู่กับเรา จึงได้จับลักษณะเด่นของพระองค์อาทิพระนาสิก พระโอษฐ์ พระกรรณ ฯลฯ เข้ามาไว้ในรูปองค์ของพระนารายณ์ เพราะพระองค์ท่านก็เปรียบเสมือนองค์อวตารมาจุติ แลดูใจดีมีจิตเมตตาต่อทุกคนอีกทั้งยังสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอันหาที่สุดมิได้อีกด้วย” 

Did You Know
•    อาจารย์ประสพสุขจบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสมบูรณ์วิทยานุกูล จังหวัดนครราชสีมา
•    ระดับมัธยมศรีวิทยากร จังหวัดนครราชสีมา
•    ระดับ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา
•    ปวส. วิทยาลัยเพาะช่าง (วิทยาเขตเพาะช่าง) กรุงเทพฯ
•    ปริญญาตรีเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์
•    งานของอาจารย์ประสพสุข นอกเหนือจากงานปั้นในพระราชพิธีของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชแล้ว ยังมีผลงานที่สามารถเห็นได้ทั่วไปมากมาย
•    อาทิ งานปั้นรูปเหมือนรัชกาลที่ 5 โรงพยาบาลเลิดสิน, งานปั้นสมเด็จย่า อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, งานปั้นสมเด็จย่าที่พระบรมธาตุศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี จังหวัดเชียงราย, งานปั้นสมเด็จย่าที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, งานปั้นสมเด็จย่าที่โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี ฯลฯ

 

จิตวิญญาณของงานประติมากรรม