สุดยอดครูเพลงไทย ประยงค์ ชื่นเย็น บนถนนสายดนตรี

สุดยอดครูเพลงไทย ประยงค์ ชื่นเย็น บนถนนสายดนตรี

สุดยอดครูเพลงไทย ประยงค์ ชื่นเย็น บนถนนสายดนตรี ย้อนกลับไปกว่า 40 ปี วงการลูกทุ่งไทยถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองมีนักร้องขวัญใจมหาชนชื่อดังหลายท่าน มีผลงานเพลงเข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้ฟังมากมาย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากคนเบื้องหลังอย่างครูเพลงที่กลั่นความรู้สึก รังสรรค์เป็นบทเพลงอันไพเราะที่ถูกถ่ายทอดโดยผู้ขับร้องออกมา 

บทเพลงลูกทุ่งในยุคนั้นจำนวนมากมายหลากหลายเพลง มีการเรียบเรียงเสียงประสานจาก อาจารย์ประยงค์ ชื่นเย็น ต่อให้ไม่ใช่แฟนเพลงลูกทุ่งก็อาจจะคุ้นหูเพลงที่ผ่านมือท่านมาบ้าง เพราะท่านสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า 3,000 เพลง ตลอดการทำงานมามากกว่า 40 ปี ท่านสร้างผลงานทรงคุณค่าจนได้รับรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน มีเพลงดัง อาทิ จดหมายจากแนวหน้า, ทหารเรือมาแล้ว ผลงานของยอดรัก สลักใจ ผู้ชายในฝัน, ห่างหน่อยถอยนิดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือ อยากกินเนื้อคนใจดำ, หัวใจเดิม ของสายัณห์ สัญญา และอีกหลายบทเพลงจากหลากหลายศิลปิน

        ผลงานเหล่านี้ทำให้อาจารย์ประยงค์ คนลูกทุ่งตัวจริงผู้ปิดทองหลังพระ ได้รับการยกย่องเชิดชูให้มาอยู่แถวหน้ากับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2552 สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง) แต่กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ไม่ง่ายเพราะอาจารย์ประยงค์ท่านต้องผ่านความยากลำบากมานับไม่ถ้วน

อาจารย์ประยงค์มีคุณพ่อเป็นชาวสุรินทร์ส่วนคุณแม่เป็นคนจังหวัดพระตะบอง ท่านได้เกิดที่จังหวัดพระตะบอง (ในสมัยที่ยังเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยภายหลังฝรั่งเศสยึดครองและตกเป็นของประเทศกัมพูชา) ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายมาอยู่จังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่ออายุได้เกณฑ์ การศึกษาระดับมัธยม อาจารย์ประยงค์จึงได้มาศึกษาที่โรงเรียนการช่างบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ชั้นระดับมัธยม 1-6 จนจบหลักสูตรการศึกษา

“สมัยนั้นผมเรียนช่างไม้แต่ก็มีโอกาสได้เป็นนักเรียนแตรวงในตำแหน่งทรัมเป็ต ซึ่งสภาพวงของโรงเรียนเวลานั้นขาดแคลนอุปกรณ์ดนตรีอย่างมาก คือมีแตรเป่ากับกลองอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น เวลาฝึกเล่นเราก็ใช้โน้ตแบบไทยหัดเป่ากันตามสภาพ พอทางครอบครัวรู้ว่าผมเล่นดนตรีพวกเขาก็ไม่อยากให้ผมเดินเส้นทางนี้ เพราะสมัยก่อนการเป็นนักดนตรีมันลำบาก จึงอยากให้ผมไปทำอาชีพอื่นมากกว่า

“ผมมีเพื่อนสนิทอยู่หนึ่งคนชื่อ บุญชื่น บุญเกิดรัมย์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ แดน บุรีรัมย์ สมัยนั้นเขาเข้าวงการเพลงมาก่อนผม เขาก็อยากให้ผมเข้ามาวงการเพลงบ้าง พอช่วงปิดเทอมก็มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพครั้งแรกได้มานอนที่บ้านครู ก.แก้วประเสริฐ แถวเกียกกาย ที่นี่มีคนเยอะมากนอนรวมกันในมุ้งกระเรี่ยกระราด ผมอยู่แล้วรู้สึกอึดอัดคิดว่าถ้าอยู่ต่อคงไปไม่รอดแน่ เมื่อแดน บุรีรัมย์ มีคิวออกไปเล่นดนตรีข้างนอก ผมเลยหนีกลับจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยเงินติดตัวเพียง 20 บาทเท่านั้นคือต้องผ่านอุปสรรคหลายอย่างกว่ากลับมาถึงบ้านได้

“ประมาณ พ.ศ.2510 ผมก็กลับมาเรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แดนก็บอกกับผมว่าให้ขึ้นมากรุงเทพฯ อีกครั้ง คราวนี้ต้องมาอยู่จริงห้ามหนีกลับอีกแดนก็ให้ผมมาเข้าสังกัดวงดนตรีลูกทุ่งวง ‘รวมดาวกระจาย’ ของครูสำเนียง ม่วงทอง ซึ่งผมมาจากบุรีรัมย์เป่าทรัมเป็ตได้แต่อ่านโน้ตสากลไม่เป็นก็เล่นอะไรไม่ได้มาก ผมเป่าเพลงได้เพลงเดียวคือเพลงสรรเสริญพระบารมีตอนที่แสดงดนตรีจบเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในภายหลังทำให้ผมเริ่มเรียนตัวโน้ตสากลแบบครูพักลักจำจนสามารถอ่านและเขียนได้ 

“ผมอยู่วง ‘รวมดาวกระจาย’ ได้เกือบหนึ่งปีก็ย้ายไปอยู่วงดนตรีลูกทุ่ง ‘สุรพัฒน์’ โดยมี ชลธี ธารทอง เป็นหัวหน้าวง ซึ่งตอนนั้นแกเป็นคนที่หล่อมาก ช่วงนี้ผมเริ่มเขียนโน้ตเพลงขยันมากเขียนจนนิ้วด้านทุกวันนี้ก็ยังไม่หาย คือทำงานหนักจนแดนเข้ามาเตือนว่าให้พักผ่อนบ้างเพราะกลัวผมจะเครียดเกินไป

“จากนั้นผมได้ย้ายมาสังกัดวงดนตรีลูกทุ่ง ‘ผ่องศรี วรนุช’ พอดีทางวงเขาต้องการนักดนตรีที่เดินสายไปภาคใต้ได้ ผมเข้าไปสมัครเขาก็รับเข้างานทันที ผมออกเดินสายไปกับวงดนตรีลูกทุ่งได้ปีกว่าก็ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าวงดนตรี ได้ค่าตัววันละ 100 บาท แต่อยู่ได้ไม่นานก็มีโอกาสย้ายมาสังกัดวงดนตรีลูกทุ่ง ‘เพลิน พรหมแดน’ สมัยก่อนวงดนตรีลูกทุ่งหากมีการแสดงแต่ละครั้งต้องไปตามง้อวงดุริยางค์องค์กรของรัฐบาล ซึ่งบางทีเขารับงานไว้หลายที่ก็มาเล่นให้ไม่ได้ แล้วคราวนี้หัวหน้าวงที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อเพลิน พรหมแดน มีนโยบายหานักดนตรีเอกชนที่สามารถเดินสายได้เป็นเวลานาน พอผมได้ยินก็ไปสมัคร นี่คือเหตุผลที่ผมได้มาอยู่กับวงเพลิน พรหมแดน ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดในอาชีพนักเรียบเรียงเสียงประสานของผม

“เมื่อมาอยู่กับเพลิน พรหมแดน ผมได้พบกับศิลปินผู้มีความสามารถอย่าง เทพ โพธิ์งาม, จุ๋มจิ๋ม เข็มเล็ก,เด่น ดอกประดู่, เพชร ดาราฉาย ฯลฯ วงดนตรีลุกทุ่ง เพลิน พรมแดน ยุคนั้นมีชื่อเสียงมากนอกจากจะมีนักร้องดังแล้วยังเป็นวงต้นแบบการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการ เช่น มีแดนเซอร์ประดับไปด้วยขนนกสวยงามในขณะที่วงอื่นไม่มีไอเดียนี้มาจากคุณศกุนตลา ซึ่งเป็นภรรยาของคุณเพลิน พรหมแดน เขาเป็นคนเก่งมากสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษได้ เวลาเขาเดินทางไปต่างประเทศก็จะนำเข้าเครื่องแต่งกายรูปแบบใหม่มาใช้ในวงดนตรีเสมอ

“ผมเริ่มทำงานเรียบเรียงเสียงประสานให้นักร้องในวงจนหัวหน้าวงเริ่มเห็นความสามารถในการทำเพลงของผมทำให้คิดว่าเริ่มมีอนาคตจากเส้นทางนี้แล้ว และคุณศกุนตลา เขาเห็นผมทำเพลงให้กับนักร้องในวงได้ แกบอกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องจ้างใครแล้วเอาคนในวงเรานี่แหละ คือสมัยก่อนจะทำเพลงแต่ละครั้งต้องจ้างคนเรียบเรียงเสียงประสานจากข้างนอกตลอด

“ตอนนั้นผมขยันเขียนโน้ตเพลงโดยได้ค่าตอบแทนเพลงละ 50 บาท บางวันผมขยันมากเขียนได้ 3 เพลงต่อวัน ซึ่งตอนคิดมันไม่นานเท่าไหร่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ตอนคัดลอกสกอร์เพลงออกมาต้องคัดลงกระดาษ เนื่องจากต้องเขียนเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่ใช้ในเพลงนั้นใส่ลงในกระดาษเพียงแผ่นเดียวให้ได้ คือลอกกันเป็นวันเลยนะ

“เพลงแรกที่ผมเรียบเรียงเสียงประสานให้เพลิน พรหมแดน ชื่อเพลง ตาแป๊ะฝัน เป็นเพลงพูดแล้วคนที่พากย์เป็นเสียงตาแป๊ะคือ เทพ โพธิ์งาม เพลงนี้เมื่อออกมาสู่ตลาดปรากฏว่าดังมาก จากนั้นผมก็เรียบเรียงเสียงประสานให้กับเพลิน พรหมแดนมาโดยตลอด อย่างเช่นเพลงคึกลิดคิดลึก, อาจารย์ใบ้หวย, อาตี๋สักมังกร ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2519 ผมก็ขอลาออกจากวง เพื่อมาเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานอิสระ 

“ความจริงผมน่าจะอยู่ในวงการลูกทุ่งอย่างเดียว แต่การเดินทางในชีวิตก็ได้มีโอกาสมาเรียบเรียงเสียงประสานให้เพลงลูกกรุงด้วย เริ่มมาจากคุณนคร ถนอมทรัพย์ ในสมัยก่อนแกเป็นนักจัดรายกายวิทยุที่ดังมาก แล้วแกมักจะประกาศเพลงที่ติดอันดับรายการวิทยุ ซึ่งในหนึ่งเพลงจะมีการประกาศชื่อเพลง นักร้อง นักแต่งเพลง รวมถึงนักเรียบเรียงเสียงประสาน โดยเพลงที่ผมทำมักจะติดอันดับเสมอ ชื่อของ ประยงค์ ชื่นเย็น จึงถูกประกาศออกมาบ่อยทำให้มีคนรู้จักผม คราวนี้ก็มี
นายทุนต้องการทำเพลงลูกกรุงแต่มีสไตล์ดนตรีเป็นลูกทุ่ง ก็เลยมีการแนะนำให้ผมได้มาร่วมงานทำเพลง

“ผมได้ร่วมงานในชุดปั้นดินให้เป็นดาวที่ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ ซึ่งเพลงที่ดังมากในชุดนี้คือเพลง ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก แต่มันก็เหมือนเป็นดวงของนักร้องนะเพราะความจริงแล้วตอนที่ทำโครงการนี้ครั้งแรกมีนักร้องอีกคนหนึ่งซึ่งร้องไว้ก่อนหน้าจนครบแล้วทั้ง 12 เพลง เตรียมจะเผยแพร่สู่สาธารณะชนอยู่แล้ว แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคเลยทำให้ไม่ได้ออกเพลงชุดนี้ ภายหลังจึงมีการเชิญคุณธานินทร์ อินทรเทพ มาร้องแล้วก็ไม่ผิดหวังพอเพลงชุดปั้นดินให้เป็นดาวออกอากาศเท่านั้นแหละก็ประสบความสำเร็จมาก ในภายหลังทำให้ผมได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำในปี พ.ศ.2523 อีกด้วย

“การทำงานเพลงของผมมีวิธีการคิดอยู่ 3 ประการ อย่างแรกมาจากจินตนาการอย่างที่สองเอามาจากความจริงที่มีอยู่ในสังคมมาทำเป็นเพลง สุดท้ายเอาความคิดที่เราได้รู้จากเพลงต่างประเทศมาพัฒนา อย่างสมัยก่อนในยุคผมที่ดังมากก็คือ
เดอะบีทเทิลส์ และเอลวิส เพรสลีย์ คือเราชอบมากมันฝังอยู่ในความรู้สึก เวลาแต่งเพลงก็นำมาดัดแปลงให้เหมาะสม ตัวอย่างเพลง ส้มตำ ที่ผมมีโอกาสเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 

“ผมคิดว่าส้มตำไม่ใช่อาหารที่ทำเลี้ยงคนไทยเท่านั้นแต่มันสามารถเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ผมก็คิด Intro เพลงขึ้นมา จะเห็นว่ารูปแบบเพลงมันเป็นของไทยแต่ทางมันเป็นสากล ซึ่งผสมผสานด้วยเครื่องดนตรีไทย ในตอนที่บันทึกเสียงจริงมันจะมีเสียงกลองตีออกมา ในจินตนาการหมายความว่าส้มตำมันดังทั่วโลก

“อีกตัวอย่างหนึ่งผมใช้เรื่องจริงในการเรียบเรียงเสียงประสานคือเพลง จดหมายจากแนวหน้า แต่งโดย ชลธี ธารทอง ร้องโดย ยอดรัก สลักใจ นับได้ว่าเป็นเพลงแรกที่ยอดรักดังแล้วผมเป็นคนเรียบเรียงเสียงประสานให้ ผมคิดมาจากความเป็นจริงในยุคนั้น คือมีทหารเกณฑ์ที่รบอยู่ชายแดน แล้วพวกเขาได้มีโอกาสมาออกทีวีทางช่องบางขุนพรม พิธีกรถามทหารว่าไปรบอยู่ชายแดนต้องการอะไรบ้าง ทหารตอบว่าไม่ต้องอะไรมากขอเพียงแค่จดหมายส่งไปถึงชายแดนก็พอแล้ว พอพูดจบ ชลธี ธารทอง ที่นั่งชมอยู่ก็ผุดไอเดียขึ้นมาเขียนเพลงทันที จนกลายมาเป็นเพลงจดมายจากแนวหน้า คราวนี้พอมาถึงการ

เรียบเรียงเสียงประสานการรบมันต้องมีเสียงปืนรัว ๆ ผมก็เอามาใช้ในเพลงด้วยทำให้คนจำได้

“ในหนึ่งเพลงหน้าที่ของผู้เรียบเรียงเสียงประสานคือการทำเสียงดนตรีที่จะไปใช้ในเพลง เป็นผู้กำหนดเสียงดนตรีทั้งหมดในเพลงนั้น ๆ เช่นเสียงแรกของเพลง Intro หรือเสียงดนตรีที่ดังออกมาของเพลงนั้น นี่คือสิ่งที่ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเป็นคนคิดขึ้นมา ภายในเพลงจะมีเสียงดนตรีสอดแทรกเข้ามา มีการวางระเบียบของเพลงต่าง ๆ เหล่านี้ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเป็นคนทำทั้งหมด

“การจะเรียบเรียงเสียงประสานได้จะต้องมีคำร้อง ทำนอง หรืออย่างน้อยควรมีทำนองมาก่อนให้พอคาดการณ์ได้ว่าเป็นเพลงสนุกหรือเศร้า แต่ถ้ามีเนื้อร้องมาด้วยเราจะรู้ว่าควรจะทำดนตรีให้ไปแนวไหน ถ้าเป็นเพลงเศร้าเราก็ทำให้มันเศร้า เราจะเลือกเครื่องดนตรีที่มีอยู่ทั่วโลกหรือทั่วประเทศไทยนำมาใช้ตามความเหมาะสมของเพลงนั้น ๆ หรือถ้าบางเพลงก็เอาเครื่องดนตรีสากลมาผสมผสานกัน จึงบอกได้ว่าผู้เรียบเรียงเสียงประสานคือผู้ที่คิดดนตรีทั้งหมดในเพลงนั้น 

“ในอดีตก็นักเรียบเรียงเสียงประสานที่มีชื่อเสียงก่อนหน้าผมที่ดังมาก ๆ มีอยู่หลายคนอย่างคุณพีระ ตรีบุปผา ผู้เรียงเรียงเสียงประสานเพลงมนต์รักลูกทุ่ง เรียกว่าดังมากจนมีคนนำเพลงมาร้องในหลายเวอร์ชั่นประกอบละครหรือภาพยนตร์มากมาย อีกท่านที่ดังไม่แพ้กันคือคุณชาญชัย บัวบังศร ผู้ที่เป็นต้นฉบับของ Accordion เมืองไทยเพลงที่หลายคนรู้จักคือ โปรดเถิดดวงใจ ที่ขับร้องโดยทูล ทองใจ หรืออย่างเพลง ฝนเดือนหก แค่เพียงเสียงแรกก็ยังติดหูมาถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมามีนักเรียบเรียงเสียงประสานรุ่นใหม่นำเทคนิคของท่านมาใช้เยอะ

“นอกจากนี้ในสายเพลงลูกกรุงก็มี ครูสมาน กาญจนะผลิน ผู้แต่งทำนองเพลงสดุดีมหาราชา, จูบเย้ยจันทร์, นกเขาคูรัก อีกท่านที่ผมศรัทธามากคือครูมงคล อมาตยกุล ผู้ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง ชาย เมืองสิงห์, ทูล ทองใจ, พร ภิรมย์, พนม นพพร ฯลฯ แต่คนที่ผมยอมรับว่าเก่งครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งก็คือครูสุรพล สมบัติเจริญ เขาสามารถทำได้ครอบจักรวาลตั้งแต่ง ดนตรี เนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียง แถมยังขับร้องเองได้อีกต่างหาก คือคนเดียวทำได้ทุกอย่าง

“ส่วนตัวผมเองเรียบเรียงเสียงประสานเพลงแรกคือ ทนหนาวอีกปี ให้กับเด่น บุรีรัมย์ ในปี พ.ศ.2516 พอปี พ.ศ.2518 ผมมีโอกาสทำเพลง จดหมายจากแนวหน้า มันก็ดังขึ้นมา เพียงปีเดียวผมสามารถขึ้นมาทาบบารมีนักเรียบเรียงเสียงประสานทั้งหลายได้แล้วหลายเพลงก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง

“แต่งานผู้เรียบเรียงเสียงประสานมันเหมือนคนที่อยู่ข้างหลัง อย่างถ้าเพลงดังขึ้นมา 1 เพลง คนที่ได้รับชื่อเสียงคนแรกคือนักร้อง ตามมาด้วยนักแต่งเพลงที่บางครั้งคนก็แทบไม่รู้จัก ยิ่งนักเรียบเรียงเสียงประสานจะอยู่ท้ายสุดแทบไม่มีชื่อเลย ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเมื่อก่อนจนอย่างไร วันนี้ก็จนเหมือนเดิมเพราะค่าตอบแทนไม่ได้สูง อย่างสมัยก่อนประมาณปี พ.ศ.2512 ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงขึ้นมาได้ราคาสูงที่สุดในประเทศไทย คือเพลงละประมาณ 500 บาท ส่วนคนอื่นที่ไม่มีชื่อเสียงไม่ต้องพูดถึงแต่งฟรียังไม่มีใครเอาเลย นี่แหละคือปัญหาของคนทำเพลงในยุคนั้น

“ผมโชคดีที่อยู่ในวงการลูกทุ่งในยุคที่ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองโดยมีนักร้องดังอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัญ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ ซึ่งก็ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการเพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่แนวเพลง ชีวิตนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงที่มีขึ้นมีลงตลอดเวลา

“ปัจจุบันในความรู้สึกของผมวงการลูกทุ่งมันเปลี่ยนไปมาก ในยุคก่อนผมยังเชื่อมั่นในการรังสรรค์งานเพลงจากครูเพลงหลายท่าน คำว่าเพลงลูกทุ่งใช้กับเพลงเหล่านั้นได้เสมอ แต่พอมาดูตอนนี้หลายคนบอกว่าเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนไปมีดนตรีที่พัฒนาและการแสดงที่ล่อแหลม บางคนถึงกับบอกว่าทำให้วงการลูกทุ่งเสียหายตกต่ำลง

“แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ให้มองว่ากลุ่มคนที่จะฟังลูกทุ่งมันไม่ใช่คนรุ่นผมอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้มันคือเรื่องของการตลาดเขาทำเพื่อกลุ่มเป้าหมาย ในทางกลับกันถ้าให้คนรุ่นใหม่ไปฟังเพลงอย่างเพลงมนต์รักลูกทุ่ง หรือ โปรดเถิดดวงใจ เขาฟังไม่รู้เรื่องหรอก

“การพัฒนาเพลงลูกทุ่งนั้นเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราต้องดูว่าพัฒนาให้ใครฟัง มันอาจจะดีขึ้นหรือแย่กว่าเดิมก็ได้ ผมถึงมองคนรุ่นใหม่ว่ายังใช้คำว่าลูกทุ่งได้ คือให้มองโลกในแง่ดี ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพลงก็เหมือนกัน มันเป็นวิวัฒนาการทางสังคมมากกว่าคนรุ่นใหม่นั้นเกิดมาต่อเนื่องจากการสร้างสรรค์ของคนรุ่นเก่า แต่ผมเชื่อว่าลูกทุ่งอยู่ต่อไปเพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปแค่นั้นเอง เช่น ร็อค-ลูกทุ่ง หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ลูกทุ่งไม่ตายแน่นอน 


• จากผลงานเพลงที่อาจารย์ประยงค์ได้เรียบเรียงเสียงประสานทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลนับไม่ถ้วนกว่า 100 รางวัล 
• อาทิ รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน พ.ศ.2520 (เพลงหนุ่มนารอนาง) รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน พ.ศ.2523, พ.ศ.2525 (เพลงอีสาวทรานซิสเตอร์, เพลงข้อยเว้าแม่นบ่) รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน พ.ศ.2543 (เพลงเทพธิดาพยาบาล) ฯลฯ
• แม้อาจารย์ประยงค์ไม่ได้อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งเต็มตัวเหมือนแต่ก่อน แต่ปัจจุบันยังคงทำงานเป็นดีเจจัดรายการทาง FM ลูกทุ่งมหานครในคืนวันอาทิตย์ ช่วงตี 2 ถึงตี 5 นอกจากนี้ยังทำงานเรียบเสียงเสียงประสานให้กับหน่วยงานที่สนใจอยู่บ้าง
• ในช่วงต้นชีวิตครูเพลงของอาจารย์ประยงค์ อาจผ่านเรื่องราวและอุปสรรคมากมายแต่ ปัจจุบันท่านใช้ชีวิตคู่กับภรรยานักธุรกิจชื่อดังอย่างคุณโสภา ศิรมณีรัตน์ อย่างชื่นมื่น

The Arrangement of a Musical เบื้องหลังตำนานลูกทุ่งไทย