สายน้ำที่ไหลกลับ บทแรก น้ำทุกหยดมีต้นน้ำ คนทุกคนมีที่มา

สายน้ำที่ไหลกลับ บทแรก น้ำทุกหยดมีต้นน้ำ คนทุกคนมีที่มา

“คลองบางหลวง” ...วันนี้แตกต่างไปจากเมื่อหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ปีนั้นนั่งเรือจ้าง คนแจวสองมือลิงหัวท้าย พายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาบ้านย่าที่อยู่ในคลอง

คลองบางหลวงในสมัยสงครามโลกเพิ่งจะเลิก มีกลิ่นอายความเป็นเรือกสวน

น้ำในคลองยังดูใสสะอาด แม้จะกอสวะผักตบชวาลอยมาบ้าง แต่ดูแล้วก็ไม่เกะกะ

ตอนเช้า...เช้า พระสงฆ์องค์เจ้าจะพายเรือมาดลำเล็ก ออกบิณฑบาต

ตอนสายเรือเจ๊กขายหมู เป่าเขาควายเรียกลูกค้า

หลังจากนั้นตั้งแต่เช้ายันเย็น ไปจนถึงค่ำก็จะมีเรือพ่อค้าแม่ขาย พายเรือมาเสนอถึงบันไดท่าน้ำ

กลางวันจะมีเรือขนมจีนน้ำพริกน้ำยา คนจีนจะขายก๋วยเตี๋ยว ขายกาแฟ ชาวบ้านเอาผลหมากรากไม้ในสวนมาให้เลือกซื้อ

พอหัวค่ำจะมีเรือขายขนมหวาน ดึกหน่อยจะมีข้าวต้ม

พอดาวจระเข้ขึ้นบนท้องฟ้า คลองบางหลวงก็จะหลับใหล ผู้คนจะตื่นนอนในตอนเช้า ใช้ชีวิตเรียบ...เรียบ ง่าย...ง่ายนี้ ทุกเมื่อเชื่อวัน

ที่ศาลาท่าน้ำ ตอนใกล้พลบ ย่าจะนั่งดูบ่าวไพร่ชุมนุมริมตลิ่ง อาบน้ำล้างเหงื่อไหลไคลย้อย ที่เหน็ดเหนื่อยกับงานในสวนตลอดทั้งวัน

ตอนนั้นย่าหลานก็จะมีเวลาได้พูดกันตามประสา ขัดข้องหมองใจสงสัยเรื่องใดมา ย่าก็จะอธิบายให้เข้าใจรู้

นับตั้งแต่เรื่องของปู่ ย่า เป็นใครที่ไหน จึงมาอยู่ในคลองนี้

เริ่มตั้งแต่เรื่องของย่าที่เป็นคนคลองบางหลวง บรรพบุรุษรบกับพม่าข้าศึกมาตั้งแต่สมัยกรุงแตก

ตระกูลคนอยุธยาของย่าตามพระเจ้าตากมาจนกระทั่งมาสร้างบ้านแปงเมืองที่ปากคลองแห่งนี้ ทรงตั้งราชธานีใหม่เรียกว่า “กรุงธนบุรี”

และสถาปนา พระองค์เป็น “พระเจ้ากรุงธนบุรี” แต่ชาวบ้านยังเรียกพระองค์นามเดิมว่า “พระเจ้าตาก”

บรรดาคนกรุงเก่าที่ตามเสด็จ ก็ได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณคลองบางหลวงนี้ให้ได้อยู่กันทั่วหน้า คนละแวกแถบนี้จึงเป็นคนเชื้อสายมาจากอยุธยา

มีทั้งคนไทย คนจีน และคนเชื้อฝรั่งโปรตุเกส

ย่าเล่าว่า พ่อของย่าเคยเล่าว่า ในคลองบางหลวงมีบรรยากาศคล้ายกรุงศรีอยุธยา

“วัดกัลยา” ที่อยู่ปากคลอง ก็เหมือนวัดพนัญเชิง ที่มีศาลเจ้าจีน “ซำปอกง” ปากคลองบางกระจะ “วัดซานตาครู้ส” ที่อยู่ข้างก็เหมือน “วัดเซนต์โยเซฟ” ใกล้คลองตะเคียน ที่อยุธยา

หรือแม้แต่ “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” ที่อยู่บริเวณพระราชวังของ “พระเจ้าตาก” ที่ภายหลังมาเรียกว่า “พระราชวังเดิม” ก็คล้ายกับ “ป้อมเพชร” ที่อยู่ทางแยกแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำเจ้าพระยา

คนไทย...คนจีน...คนเชื้อสายฝรั่งอยู่ปากคลอง

คนแขกอิสลามอยู่ถัดเข้าไปในคลอง ที่เรียกกันว่า “มัสยิดต้นสน” หรือต่อมาเรียกกันว่า “สุเหร่าเจริญพาสน์”

คนที่อยู่บริเวณนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนอยุธยากรุงเก่า แต่คนที่ตามมาอยู่ใหม่ก็เข้าลึกไปถึงตลาดพลู แล้วก็เลยไปถึงคลองด่าน ต่อมามีการขุดคลองเข้าไปถึงราชบุรี จึงมีชื่อเรียกว่า “ด่านภาษีเจริญ” และ “คลองดำเนินสะดวก” อย่างปัจจุบัน

เพราะย่าเป็นคนคลองบางหลวง จึงเป็นเสมือนคนในสังกัดของ “เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” (ช่วง บุนนาค)

บ้านของท่านอยู่ในคลอง คือที่ตั้ง “โรงเรียนสมเด็จพระเจ้ายา” ปัจจุบันเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา”

ย่าถวายตัวรับใช้ “ท่านเจ้าคุณประยูรวงศ์” (แพ บุนนาค) ซึ่งเป็นพระธิดาของ “เจ้าพระยาสุรวงค์ไวยวัฒน์” (วร) บุตรชายของ “เจ้าพระยาบรมศรีสุริยวงค์”

ต่อมา “ท่านเจ้าคุณประยูรวงค์” ได้รับสถาปนาเป็นพระสนมเอกและได้เป็นเจ้าจอมมารดา ในแผ่นดินของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ” (รัชกาลที่ ๕) ย่าก็ได้รับความเมตตาจาก “เจ้าจอมมารดา” (แพ) แต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงเดิมซึ่งหมายถึงผู้รับใช้ใกล้ชิดก่อนที่จะได้สถาปนาเป็นพระสนมเอกและเจ้าจอมมารดา

ย่าเล่าถึงปู่ว่า เป็นคนเชื้อสายมอญ มาจากตลาดขวัญ นนทบุรีเป็นคนที่ใฝ่เรียน ถวายตัวรับใช้กับ “กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์” หรือ “พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร” บุตรชายของ “เจ้าจอมมารดากลิ่น” ซึ่งเป็นผู้ที่มีเชื้อสายมอญเช่นกัน

ปู่ทำงานอยู่กับ “กรมพระนเรศฯ” ต่อมาก็โยกย้ายมารับราชการที่กรมนครบาล

ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงนครบาล” แต่ความหมายเดิมจากการปกครองที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” ก็คือ “กรมเวียง”

ในสมัยรัชกาลแผ่นดินของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ” (รัชกาลที่ ๖) ปู่รับราชการในกระทรวงการคลัง และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในความซื่อตรง จึงทรงพระราชทานนามสกุลให้ว่า “เศวตวิมล”

ซึ่งมีความหมายว่า...ขาวสะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน

เมื่อมีลูกคนแรกเป็นชาย ปู่จึงตั้งว่า “เศวต” ซึ่งแปลได้ว่า “ขาวสะอาด” และเมื่อมีลูกสาวคนแรกเป็นหญิง ปู่จึงตั้งชื่อว่า “วิมล” ซึ่งแปลได้ว่า “ปราศจากมลทิน”

เมื่อมีบุตรธิดาต่อมา ปู่ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสันทัดในภาษา จึงตั้งชื่อลูกให้คล้องจองว่า

เศวตวิมล สว่างดารา ปรีดาเฉลิม เสริมสวาท

เมื่อได้พบกับย่า และแต่งงานกัน จึงออกเรือนจากบ้านในคลองบางหลวง มาอยู่ริมคลองสมเด็จ ซึ่งเป็นคลองสาขาแยกมาจากคลองบางหลวงออกไปคลองสาน

บริเวณสองฟากฝั่งคลอง ตั้งแต่ “วัดประยูรวงศ์” ซึ่งเป็นวัดที่ “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์” บุตรชายคนโตของ “เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์”

หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เสด็จองค์ชายใหญ่” เป็นผู้สร้างขึ้นกับ “วัดพิชัยญาติ” เป็นวัดที่ “สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ” บุตรชายคนรองของ “เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงค์” หรือที่เรียกกันว่า “เสด็จองค์ชายน้อย” สร้าง

เมื่อมีการตัดถนนขึ้นก็มีชื่อว่า “ถนนสมเด็จเจ้าพระยา”

ครอบครัว “เศวตวิมล” จึงมีความผูกพันกับสกุล “บุนนาค” มาเป็นเวลานับร้อยปี

ประวัติความเป็นมาของปู่และย่า จึงได้รับรู้มาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อถามย่าในเย็นวันนั้นว่า

...แล้วความเป็นมาของพ่อกับแม่ล่ะเป็นมาอย่างไร?...

ย่าเงียบนิ่งอยู่นาน ไม่ตอบเล่าทันทีเหมือนคำถามต่าง ๆ ที่เคยถาม รอคอยอยู่เป็นนานสองนาน ย่าจึงได้เล่าเรื่องราวแต่หนทาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของย่ากับปู่ แต่เป็นเรื่องที่ย่าเล่าว่า

ครอบครัวของย่าเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลายคน เป็นความตั้งใจของย่าและปู่ที่จะให้ลูกชายคนโต ซึ่งเป็นผู้สืบสกุล แต่งงานกับผู้ที่มีฐานะและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นคติไทย ค่านิยมของคนในสมัยนั้น

แต่ลูกชายที่ปู่และย่าหมายมั่นปั้นมือ กลับไปมีสัมพันธ์กับสาวคนจีนข้างที่ทำงาน จนกระทั้งสาวจีนตั้งท้อง

ลูกชายคนโตของย่ารู้สึกว่าทำผิดจึงปิดบังเรื่องที่เกิดขึ้น

เมื่อย่ารู้ระแคะระคายจึงคาดคั้นความจึงแตก

ลูกของย่าสารภาพว่า ที่ทำไปไม่ใช่เพราะความรักแต่เป็นความใคร่ ต่อมาจึงจับได้ว่าสาวจีนต้องการจะจับให้เป็นสามี เพราะคนจีนในยุคนั้นต้องการมีสามีเป็นคนไทย โดยเฉพาะข้าราชการ จึงปล่อยตัวให้ตั้งท้องไส้ ทั้งที่มีอายุเพียง ๑๕ ปี

เมื่อลูกชายย่าบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ เธอจึงหอบท้องไปคลอดลูกที่บ้านพี่น้องชาวจีนต่างจังหวัด ให้พี่สาวเลี้ยงลูกซึ่งเป็นลูกของเธอ เป็นหลานของพี่สาวทำหน้าที่เป็นแม่เลี้ยงให้

ส่วนตัวของเธอกลับมาเป็นสาวอีกครั้ง และมีความหวังว่าจะมีสามีเป็นคนไทยโดยเฉพาะเป็นข้าราชการ

เมื่อย่ารู้ความจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ย่าออกคำลั่งเด็ดขาด ให้ลูกชายไปรับลูกซึ่งเป็นหลาน เอามาให้ย่าเลี้ยงดู

ย่าว่าจะเลี้ยงดูแบบคนไทยคลองบางหลวง จะไม่ใช่เลี้ยงดูแบบเจ๊กจีนบางปลาสร้อย

ก็วันนั้นล่ะ ที่ลูกชายคนโตของย่าจึงพาลูกชายอายุสาม...สี่ขวบ นั่งเรือพายจากท่าเรือปากคลองตลาดเข้าคลองบางหลวง เอามาให้แม่

ความทรงจำในวันนั้นสำหรับเด็กสามขวบยังจดจำได้มาจนถึงแก่เฒ่าในวันนี้ จำได้แม้กระทั่งเสียงของย่าพูดบอกกับลูกชายว่า

...ลูกของเอง หลานของข้าเป็นคนไทยข้าจะไม่ยอมให้เจ๊กจีนเอาไปเลี้ยง... 

คลองบางหลวงในสมัยสงครามโลกเพิ่งจะเลิก มีกลิ่นอายความเป็นเรือกสวน น้ำในคลองยังดูใสสะอาด แม้จะกอสวะผักตบชวาลอยมา