นครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราช

หากเราหลงทางวนเวียนอยู่ในเขาวงกตที่หาทางออกไม่ได้ก็คงไม่ใครอยากจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเขาวงกตแห่งนี้มีแต่ความสุขก็คงมีแต่คนอยากมา เหมือนที่เรามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชนอกจากจะมีท้องทะเลที่สวยงามแล้ว ในอีกฝั่งฝากผืนแผ่นดินนี้ยังมีป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์ 

รถยนต์พาเราเลี้ยวลัดเลาะเส้นทางน้อยใหญ่เข้ามาสู่อำเภอลานสกา เขตป่าดิบชื้น เสียงเพลงของสายลมและธรรมชาติก็ผ่านเข้ามาอย่างน่าชื่นใจจนมาถึงหมู่บ้านคีรีวงสถานที่อันเลื่องชื่อว่ามีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย จากการวัดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่อย่างหนาแน่น หมู่บ้านแห่งนี้อยู่เชิงเขาหลวงเสมือนเป็นหุบเขาในป่าฝนที่มีความชุมชื่นตลอดเวลา เทือกเขาได้กลั่นเอาอากาศ สดชื่นและธารน้ำใสไหลผ่านให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับความสวยสดอยู่ทุกคืนวันมาตลอดหลายร้อยปีอย่างไม่มีเสื่อมคลาย

ชื่นชมธรรมชาติอย่างเอมอิ่มอยู่พักใหญ่ เราปลีกตัวเข้ามาสัมผัสกับวิถีของชุมชนที่แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่พวกเขาสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยงานที่ตัวเองรัก กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ใช้ชีวิตแบบสมถะไม่แต่งเติมด้วยสิ่งแปลกปลอมมีแต่ความสุขสงบใจ คนที่นี่ทำอาชีพด้วยการปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่าง ทุเรียน เงาะ สะตอ มีหมุนเวียนตามแต่ฤดูกาล 

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากความคิดสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มลูกไม้ ที่เสพสุขจากงานศิลปะนำเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ นำเชือกมาถักทอล้อมก้อนหินเป็นสร้อยคอ แหวน กำไลและจิปาถะ ให้คนที่สนใจได้เชยชม สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองตามอัตภาพไม่เบียดเบียนผู้ใด

ไม่ไกลนักยังมีกลุ่มใบไม้ พวกเขาให้ความสำคัญกับการย้อมผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ เน้นการใช้พืชในชุมชนมาเป็นสีย้อม เช่น มังคุด, สะตอ, ลูกเนียง แล้วนำผ้าสีย้อมสวยนุ่มนวลนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อ กระเป๋า ผ้าพันคอ ที่ใครได้เห็นได้พบก็อาจหลงใหลได้ไม่ยากเย็นนัก

ในลักษณะใกล้เคียงกันนี้ยังมีกลุ่มลายเทียนสีธรรมชาติ ที่วาดลวดลายสด ๆ แสดงในนักท่องเที่ยวได้ชม เป็นผ้าบาติกเน้นรวดลายต้นไม้ เทือกเขาลวดลายทิวทัศน์ และแหล่งธรรมชาติ ต่างจากผ้าบาติกทางแถบชายทะเลอยู่พอสมควร นับได้ว่าเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการพึ่งพาตนเองไม่ต้องแบกสังขารมาทำงานในเมืองหลวงก็สามารถยืนอยู่ได้ด้วยอาชีพที่ตัวเองรัก

การมานครศรีธรรมราชครั้งนี้สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือรากเหง้าของวัฒนธรรมชาวใต้เราจึงออกเดินทางไปค้นหาสิ่งนั้น นั่นคือเรื่องของหนังตะลุง บ้านสุชาติ ทรัพย์สิน ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ปี พ.ศ.2549 มีความเชี่ยวชาญการแกะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองนคร แม้ท่านจะเสียชีวิตไปก่อนแล้วแต่ยังคงถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกชายได้ สืบทอดตำนานของหนังตะลุงต่อไป 

กลิ่นหนังวัวเสียงเครื่องมือแกะหนังจากการทำงานหนักเป็นจุดเด่นที่ทำให้บ้านหลังนี้มีชีวิตชีวา พร้อมกับต่อเติมเป็นอาคารขนาดใหญ่ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมเอาเรื่องราวของหนังตะลุงไว้อย่างมากมาย มีตัวหนังที่สำคัญจัดแสดงไว้อย่างเพียบพร้อม ตั้งแต่เทวดา ตัวพระ ยักษ์ ตัวตลก ฯลฯ มีอายุหลายร้อยปี อีกทั้งยังมีหนังตะลุงในแต่ละภาคของไทย มีตัวหนังมุสลิม ตัวหนังนานาชาติ เช่น อินเดีย อินโดจีน ตุรกี ฯลฯ

เห็นเพียงแค่รูปลักษณ์อาจไม่สื่อถึงภายใน ลูกชายของคุณสุชาติจึงทำการจัดแสดงการเชิดหนังตะลุงขนาดย่อมให้เราได้ซึมซับสำเนียงการพากย์และเทคนิคการเชิดหนังจากฉากหลังดวงไฟสีส้มได้ชมกันสด ๆ ที่หน้าจอนั้นคนดูอาจกำลังเพลิดเพลินไปกับการแสดง แต่เบื้องหลังมีอะไรมากกว่าที่เห็นมากมายนัก ที่นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงโรงเชิดหนังตะลุงเพียงอย่างเดียว แต่มันคือประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของชาวใต้ที่ยังหลงเหลือไว้เพียงไม่กี่ที่ในประเทศไทยให้เราศึกษา

หลังจากนั้นเราได้ไปเยี่ยมเยียน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธภาคใต้    พระบรมธาตุเมืองนครมีจุดที่คนจดจำคือปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม บ้างก็เรียกกันว่า“พระธาตุทองคำ” ในยามที่แสงแดดสาดส่ององค์พระธาตุแต่เงากลับไปทาบถึงพื้นล่าง ราวกับพระธาตุไม่มีเงาทำให้เป็นที่เรียกกันอีกชื่อว่า “พระธาตุไร้เงา” ด้วยความศรัทธาของผู้คนยังมีให้เห็นอย่างล้นหลามแวะเวียนมานมัสการไม่ขาดสาย บางคนอาจมาเพื่อขอพรให้ชีวิตเจริญขึ้น แต่บางคนก็ขอเพียงได้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคลก็เพียงพอแล้ว 

จากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ซ่อนความงดงามไว้ภายในกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวนครที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย นักท่องเที่ยวที่ได้มาสัมผัสสิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นความคุ้มค่าของชีวิต ให้เราได้มีรอยยิ้มเมื่อนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่ผ่านมาราวกับไม่มีวันจืดจาง 

เส้นทางธรรมชาติและวัฒนธรรม