โรคแทรกซ้อน

โรคแทรกซ้อน

ในยุคปัจจุบันโลกเดินทางก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ผู้คนต้องแข่งกันหาเงิน แข่งกันกิน แข่งกันใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่อยู่ภายใน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนลืมมองข้ามไปก็คือเรื่องของสุขภาพ ...

โรคหลักๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงๆ ก็อย่างเช่น มะเร็งเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดัน และเบาหวาน โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดปกติทั้งสิ้น อย่างในสมัยก่อน อาหารการกินไม่ได้ปรุงแต่งมากขนาดนี้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การกินก็เปลี่ยนไป ยิ่งเรากินข้าวเป็นหลัก ก็ทำให้หลายๆ คนที่ป่วยเป็นโรคอ้วน น้ำหนักมาก ความดันสูง ก็จะมีโรคเบาหวานตามมา

คำว่า เบาหวาน ในยุคปัจจุบัน ฟังหรือได้ยินอาจจะไม่ดูร้ายแรงสักเท่าไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ได้คร่าชีวิตคนในทันทีเหมือนกับไวรัสอีโบล่า โรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก แต่โรคนี้ก็จะเข้าไปทำให้ระบบภายในเสียสมดุล และทำให้อวัยวะบางส่วนเริ่มเสื่อม และสุดท้ายก็จะมีโรคแทรกซ้อนตามมา

โรคแทรกซ้อนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานก็คือ โรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน โรคนี้เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดเล็กๆ ส่วนที่เป็นตัวกรองของเสียในไต และเมื่อเป็นมาก สุดท้ายก็จะทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด

สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ประมาณร้อยละ 30 ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และประมาณร้อยละ 10-40 ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตจากเบาหวานก็แบ่งออกเป็นได้ 5 ระยะ

ระยะแรกเป็นระยะที่เหมือนไตจะทำงานได้ดีขึ้น เพราะมีอัตราการกรองของเสียได้ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงไตจะเริ่มทำงานผิดปกติ สำหรับระยะที่สองหากตรวจปัสสาวะก็จะพบว่ามีโปรตีนปริมาณน้อยๆ รั่วออกมาในปัสสาวะเป็นครั้งคราว และในระยะที่สามเป็นระยะที่ตรวจพบโปรตีนปริมาณไม่มากรั่วในปัสสาวะตลอดเวลา สำหรับระยะที่สี่จะตรวจพบโปรตีนปริมาณมากรั่วในปัสสาวะตลอดเวลา และการทำงานของไตก็ลดลง และระยะที่ห้าการทำงานของไตจะลดลงมาก และทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด

สาเหตุที่เกิดโรคไตวายเรื้อรังได้นั้น สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานก็คือ เกิดจากการปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่ควบคุม ทำให้เลือดในไตเสื่อม และเมื่อเป็นนานๆ เข้า ก็ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ สำหรับวิธีการป้องกันโรคไตเรื้อรังจากเบาหวานก็คือ ต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ดี

สำหรับวิธีการตรวจสอบเรื่องการเสื่อมของไต ในปัจจุบันก็ทำได้ง่ายๆ คือการตรวจเลือด และปัสสาวะเพื่อประเมินการทำงานของไต ซึ่งโดยปกติแล้วหมอจะแนะนำให้บุคคลทั่วๆ ไป ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าร่างกายมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพราะโรคไตวายเรื้อรังหากเป็นขึ้นมากว่าจะแสดงอาการของโรคไตก็มักจะเสื่อมไปมากแล้ว ซึ่งเมื่อถึงระยะนั้นผู้ที่เป็นโรคก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร หรือมีอาการอาเจียน และอาจมีอาการบวมตามร่างกาย          

สำหรับการผิดปกติในระยะแรกนั้น การตรวจพบโปรตีนจำนวนน้อย (Micro Albuminuria) จะต้องตรวจพบ 2 ใน 3 ครั้ง ใน 6 เดือน จึงจะถือว่าผิดปกติ และเมื่อความเสื่อมของไตมีมากขึ้น ก็จะทำให้ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วยวิธีการตรวจปกติตลอดเวลาร่วมกับการตรวจพบของเสียในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการป้องกันโรคไตจากโรคเบาหวานนั้น ขั้นแรกต้องรักษาที่ต้นเหตุเสียก่อน ต้นเหตุของเรื่องก็คือโรคเบาหวาน ดังนั้นแล้วจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยดูได้จาก ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารให้อยู่ในช่วง 90-130 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และระดับน้ำตาลเฉลี่ยหรือน้ำตาลสะสมไม่ควรเกินกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ 

ในส่วนอื่นๆ ก็คือต้องควบคุมให้ความดันโลหิตไม่เกินกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนการใช้ยาลดความดันโลหิตบางชนิดที่สามารถชะลออาการเสื่อมของไตลงได้ จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะกินยาชนิดนั้นๆ 

สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติตัวของเราเอง เพื่อช่วยควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิต แถมยังช่วยชะลออาการเสื่อมของไต สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต ก็ต้องจำกัดอาหารประเภทโปรตีนด้วย โดยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือนักโภชนาการเพื่อช่วยควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัด 

และควรตรวจการทำงานของไต และตรวจเลือดกับปัสสาวะทุกๆ ปี และหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด ลำบาก เป็นเลือด ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์

ที่หมอเล่ามาทั้งหมด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะใครที่ชอบบอกว่า ไม่กินของหวานๆ มันๆ แต่กินขนมกรุบกรอบ และชอบกินข้าว ของทอด ก็มีโอกาสเสี่ยงเช่นเดียวกัน

ดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าครับ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า 

กินอาหารเช้าผิดเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ

ความเข้าใจเรื่องอาหารเช้าของคนทั่วๆ ไปนั้นยังผิดอยู่เยอะ และการกินอาหารเช้าแบบผิดๆ ก็มีสิทธิ์นำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่เราได้ ยกตัวอย่างเช่น การกินอาหารเช้าเพียงแค่กาแฟหนึ่งแก้ว หรือปาท่องโก๋จิ้มนมกับน้ำเต้าหู้ หมูปิ้งกับข้าวเหนียว แม้ปัจจุบันจะมีหลายเจ้าทำข้าวเหนียวหลายๆ สีที่โปรโมทว่ามีประโยชน์มากกว่าข้าวเหนียวธรรมดาก็ตาม หรือแม้กระทั่งโจ๊กกับปาท่องโก๋กรอบ ก็ให้โทษได้เช่นกัน

อาหารตัวอย่างที่หมอเขียนมา อย่างการกินอาหารเช้าด้วยกาแฟอันนี้ไม่ใช่อาหารเช้าแน่ๆ แต่ก็มีหลายคนที่กินแค่นี้ก็อิ่ม แต่ถ้าระยะยาวก็ยิ่งทำร้ายสุขภาพมากขึ้น อาจะเป็นสาเหตุของการเผาผลาญในร่างกายที่แย่ลง รวมไปถึงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นอีกด้วย

ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ หรือข้าวเหนียว หมูปิ้ง ก็เช่นกัน เพราะมีแต่คาร์โบไฮเดรต กับโปรตีน หากจะกินอาหารเหล่านี้นานวันเข้าก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกลุ่ม NCDs ได้มากขึ้น

เช่นนั้นแล้วก็ควรมีผักสด หรือผลไม้สดเพิ่มในมื้อด้วยก็จะทำให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

จากเบาหวาน