ศรุตา เกียรติภาคภูมิ

ศรุตา เกียรติภาคภูมิ

สิ่งของหนึ่งชิ้นอาจมีค่ามากกว่าที่เราคิด หากเราสามารถสร้างสรรค์หรือดัดแปลงสิ่งนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับ ‘ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ’นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษเหล็ก ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIN เกิดไอเดียนำเศษเหล็กเหลือใช้ที่อยู่รอบตัว มาออกแบบและสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน การันตีด้วยการคว้ารางวัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Demark 2013 หรือ Good Design Award 2013

กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ของเธอ ส่วนใหญ่เป็นสถาปนิก, Interior หรือลูกค้าที่สนใจของตกแต่งบ้าน โดยเธอจะออกตามงานแฟร์ต่าง ๆ เพื่อให้เจอกับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้โดยตรง เธอพูดถึงผลงานของตัวเองว่า เหมือนเป็นสินค้าแนวใหม่ กึ่งเป็น ECO ที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ให้เกิดความงาม 

“การเข้าโรงงานทุกวันคืองานประจำของเรา เพราะที่บ้านเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ประเภทฮาร์ดแวร์แต่เราไม่ได้เป็นคนดูแล เราทำงานดีไซน์ของตัวเองเป็นหลัก เรียนจบ Fine Art เพราะการเรียนศิลปะมันตอบสนองความรู้สึกของตัวเองไม่ใช่คนอื่น แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่าจะใช้ศิลปะให้อยู่รอดได้ยังไง เลยเบนเข็มตัวเอง มองตัวเองให้ชัดขึ้น สิ่งที่เรามีอยู่คือโรงงานและนี่คือสิ่งที่เราเกิดและเติบโตมา แต่เรากลับลืมและมองข้ามสิ่งที่เราเห็นและเดินเหยียบย่ำทุกวัน 

“การทำปริญญานิพนธ์ตอนปริญญาตรีเรื่องคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เราเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิตคนในโรงงาน เห็นภาพความหมายของวัสดุมากขึ้นเราเลยพยายามนำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดเป็นมูลค่าขึ้น มันเลยกลายเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ชื่อแบรนด์ PIN ตอนแรกที่เริ่มลงมือ เราก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ อบรม ว่าจะทำงานศิลปะยังไงให้คนซื้อเราง่ายขึ้น โดยมีอาจารย์จากหน่วยงานต่าง ๆ มาสอนและปรับความคิดของเราให้ไปสายออกแบบ”

“เราเป็นเด็กยุคแรก ๆ ที่เริ่มทำธุรกิจของตัวเองเมื่อ 5 ปีก่อน ยุคนั้นเรียกว่าเป็นยุคแหกคอกสำหรับเรา ฉันจะทำอย่างนี้ขอไม่ยุ่งกับคนอื่น ฉันจะต้องเจอตัวตนของตัวเองให้เร็วที่สุด คือเลือกที่จะไม่ไปสมัครงานที่ไหน เราอยู่บ้านขอคนงานหนึ่งคนกับกล่องเหล็กกล่องหนึ่ง ขอต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อที่จะให้มันเกิดผลมากที่สุด แล้วเราก็ตั้งปฏิญาณกับตัวเองเพื่อจะตอบคำถามกับคุณพ่อได้ว่าเราทำอะไร พอมาถึงยุคนี้ที่ธุรกิจเกิดขึ้นใหม่เร็ว แต่ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เห็น เราเชื่อว่าคนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและมีความมุ่งมั่นยังไงก็ไม่มีวันล้มลุกคลุกคลาน การทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก ต้องเข้าใจตัวเอง เราเลยต้องมีหลายอาชีพที่เราต้องเป็นได้ เราเป็นฟรีแลนซ์ รับเป็นโปรเจ็กต์ เราเชื่อว่านี่คือธุรกิจแนวใหม่ของปัจจุบันด้วยซ้ำ”ผลงานต้นคริสต์มาสที่ SiamDiscovery ถือว่าเป็นงานชิ้น Masterpiece ของเธอ ด้วยขนาดที่สูงประมาณ 10 เมตร เป็นเหล็กทั้งหมด ทำให้เธอต้องเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานในสเกลที่ใหญ่มากขึ้นอีกระดับ 

“ผลงานชิ้นนี้เป็นงานแรกที่เราได้ทำงานขนาดใหญ่ เหมือนเป็น Public Art Space ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายส่วน ทั้งทิศทางของลม ทิศทางของคน ตำแหน่งที่ตั้ง แสงไฟตอนเช้าและตอนกลางคืน ปัจจัยและโจทย์มันเข้ามาตีกรอบเรามากมาย ช่วงนั้นเครียดอยู่เหมือนกันว่าจะทำได้ไหม แต่เราก็ดีไซน์สุดความสามารถของเราด้วยความงามก่อน ส่วนปัจจัยต่าง ๆ ค่อยมาตัดออก ใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ได้ต้นแบบทั้งหมด 4 ตัว แล้วนำไปพรีเซ้นต์นอกนั้นก็เป็นเรื่องของวิศวกรแล้ว ผลตอบรับดีมาก 

“หลังจากงานต้นคริสต์มาสปี 2013 ปีถัด ๆ มา เราก็เดินสายออนทัวร์ต่างประเทศ โชว์งานที่นั่นที่นี่ มีส่งไปประกวดรางวัลบ้าง แต่จะส่งประกวดในเชิงธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มากกว่า เพื่อเป็นการการันตีว่างานของเราดีรึเปล่าไม่ได้มาแนวสายประกวด ส่วนหัวใจของนักแบบจริง ๆ เป็นยังไงเราไม่รู้ แต่สำหรับเราคือทำของให้สวย เวลาเราซื้อหรือเลือกของ อย่างแรกก็มองความสวยก่อนแล้วราคาค่อยว่ากัน รสนิยมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก เราจะทำไงให้รสนิยมเป็นของเราด้วยและเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบด้วย 
นี่เป็นปัญหาของนักออกแบบที่จะต้องออกแบบยังไงให้มันเป็นกลาง แล้วก็มีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้นด้วย

“สามปีก่อนที่จะหันมาจับเศษเหล็ก เราต้องทำการทดลองก่อนนะ เพราะการทดลองทำให้เข้าใจตัวเองและเข้าใจงาน อย่างของเราเองเวลาออกแบบอาจจะไม่เหมือนคนอื่น เราต้องดูวัสดุก่อนที่จะออกแบบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือมันตายตัว เราก็ต้องหาความเป็นไปได้ มันถูกทิ้งมาตลอด เราจะหยิบมันขึ้นมายังไงให้มันมีความงาม แปรเปลี่ยนทางความหมาย ทางความรู้สึกและประสบการณ์ใหม่ด้วย แต่เราก็ไม่ได้ทำวัสดุเหล็กอย่างเดียวนะ มีแก้ว กระจก เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ตอนนี้กำลังเริ่มทำเซรามิก ต้องมีการพัฒนาผลงานและหาความแปลกใหม่”

ตอนนี้เธอยังคงออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่เธอคาดหวังในอนาคตสำหรับแบรนด์ PIN คือการส่งสินค้าออกนอกประเทศให้มากขึ้น เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านในเขตอาเซียนก่อน ส่วนผลิตภัณฑ์นอกจากจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านแล้ว เธอกำลังวางแผนจะทำผลิตภัณฑ์ในสปา อาจจะเป็นของตกแต่งหรืออะไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทุกผลงานเธอใส่ใจและใส่ความเป็นตัวตนลงไปอย่างเต็มที่  

The art of metal’s life เปลี่ยนเศษเหล็กให้เป็นศิลปะ