ธีรพล นิยม

ธีรพล นิยม

การที่ได้มาพูดคุยกับศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้ ยังสถานที่ที่เขียวครึ้มไปด้วยความร่มรื่นของต้นไม้ หมู่อาคารไม้หลายหลังที่ซุกซ่อนตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ภาพแรกที่เห็นตรงหน้าเหมือนเป็นนัยยะบางอย่างบอกใบ้ให้กับเราว่า ความกระด้างที่ได้รับจากหมู่ตึกคอนกรีตน้อยใหญ่ ทิ้งไว้ที่ทางเดินแล้วค่อยๆ ซึมซับกับความอ่อนน้อมของธรรมชาติเข้าไปในจิตใจเมื่อได้มาเยือนที่นี่ ... สถาบันอาศรมศิลป์ สถานที่ที่เราได้มาพบกับอาจารย์ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)

ปัจจุบันด้วยวัย 62 ปี (เกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2494) ของชายผู้นี้ที่เติมเต็มให้กับชีวิตด้วยคำว่าศิลปินจากสิ่งที่ทำนอกจากจะเป็นสถาปนิกที่เน้นถึงวิถีสังคมและธรรมชาติแล้ว ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทแปลน กลุ่มสถาปนิกไฟแรงกลุ่มแรกๆ ของเมืองไทย เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนแสงอรุณ สำนักพิมพ์สานแสงอรุณ ฯลฯ ตลอดจนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รับเกียรติส่งเสริมองค์ความรู้แก่สังคม และวันนี้กับรางวัลแห่งชีวิตการทำงานอย่างศิลปินแห่งชาติ ...

“การที่ต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าเหมาะสมกับเกียรติที่ได้รับนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องทำอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับเกียรติอย่างสูงเช่นรางวัลศิลปินแห่งชาตินี้ เราก็ยิ่งต้องตระหนักระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ได้สั่งสอนเรามา ถึงเพื่อนร่วมงานที่ได้ร่วมเติมเต็มประสบการณ์ให้กับเรา ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง เป็นเหตุปัจจัยให้เราตระหนักและทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นยิ่งขึ้นต่อไป”

แรกเริ่มสนใจในงานศิลป์

ครูศิลปะในชั้นประถมคือคนหนึ่งที่จุดประกายความฝันในเส้นทางงานศิลป์ให้กับอาจารย์ธีรพล ราวกับว่าทุกเรื่องราวที่ครูผู้นั้นถ่ายทอดคือความฝันที่นับวันจะถูกต่อยอดจากอดีตเด็กชายผู้นี้

“ผมชอบเขียนรูปตั้งแต่เด็ก เมื่อตอนอยู่ชั้นประถมประมาณป.5 - 6 ได้เรียนกับครูศิลปะท่านหนึ่งซึ่งท่านจบมาจากเพาะช่าง คือครูพูนเดช สุนทรสิงห์ ท่านชักชวนให้ผมได้ทำงานศิลปะ พอดีกับตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ศิลปะสมัยใหม่กำลังเข้ามา ซึ่งงานศิลปะสมัยใหม่ มันไม่มีขอบเขตไม่มีจารีตอะไร ท่านก็พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะให้ฟังอยู่เสมอๆ จนเกิดความผูกพันในงานศิลปะ รู้สึกตื่นเต้นอยากที่จะเรียนรู้ทางนี้อย่างจริงจัง ผมก็ไปใช้ชีวิตอยู่กับอาจารย์เป็นเดือนๆ วาดรูปกัน ยังจำได้ถึงกลิ่นนำมันใส่ผมของอาจารย์เลย เพราะเราใกล้ชิดกันมาก

ธีรพล นิยม
ธีรพล นิยม

“ตอนนั้นผมเองก็อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ไปเห็นห้องแถว เก่าๆ เขาปิดไว้ไม่ได้ทำอะไร ก็ขอเขาเข้าไปทำความสะอาดแล้วก็เอางานเขียนของเราจัดโชว์นิทรรศการส่วนตัว ที่ทำอย่างนั้นก็เพราะได้รับรู้ว่างานศิลปะนั้นมีความหมาย มันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตคนเราจากการถ่ายทอดของครู ถือเป็นความประทับใจสมัยเด็กๆ 

“ภูเก็ตเป็นเมืองเก่ามีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เมื่อเป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจดี ก็จะมีการสร้างตึกใหม่ๆ แทรกระหว่างตึกเก่าๆ อยู่เสมอๆ ผมก็หันไปสนใจอาคารใหม่ๆ เพราะมันสวย เขามีการใช้สถาปนิกที่มีฝีมือในการออกแบบ มันทำให้ผมได้เห็นวิวัฒนาการของตึกรามบ้านช่องต่างๆ มันก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้หันมาสนใจเรื่องงานด้านนี้ ยิ่งตอนนั้นได้เห็นพิมพ์เขียว แล้วเขามีเขียนว่า ‘สถาปนิก’ ก็เลยสงสัยว่ามันคืออะไร พอรู้ความหมายก็เลยรู้สึกชอบนะในคำๆ นี้ มันเพราะดี 

“จากนั้นพอช่วงมศ.ต้น ปิดเทอม คุณพ่อรับราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนผมปิดเทอมก็ไปแวะห้องสมุดประชาชนที่นั่น ก็ไปเจอพ็อคเก็ตบุ้กเล่มเล็กๆ เล่มนึงชื่อ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) สถาปนิกคนสำคัญคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 ในนั้นก็มีทั้งรูปและภาษาอังกฤษด้วย รู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นมันตรึงใจเรา ประทับใจมาก ก็เข้าไปดูมันทุกวัน จนบรรณารักษ์บอกว่า ‘เธอจะเอาไปเลยก็ได้นะ เล่มนี้ไม่มีใครเขาอ่านกันหรอก’ ”

ผสานชีวิตในเมืองกรุง 

เมื่อถึงวัยที่ต้องขวนขวายหาความก้าวหน้าให้กับชีวิต จากเด็กชายบ้านนอกเข้ามาใช้ชีวิตกับผู้คนที่หลากหลายในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ การเรียนรู้ชีวิตที่อิสระแต่มีกรอบแห่งความสำนึกรู้จึงถูกท้าทายด้วยอำนาจของวัยอย่างเข้มข้น

“ที่จริงผมเองก็อยากเรียนเพาะช่าง เคยไปเดินดูคนวาดรูปหน้าโรงหนังเป็นประจำ ก็ชอบ พอมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ครูสอนศิลปะอีกท่านที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นก็คืออาจารย์จำนง อาจารย์ก็ไว้วางใจให้ช่วยกรอกคะแนนให้เพื่อน ก็ประหลาดใจตรงที่เมื่อเลื่อนมาถึงชื่อของตัวเอง อาจารย์จะเขียนโน้ตตัวเล็กๆ ไว้ข้างหลังว่า ‘คนนี้น่าจะไปเรียนสถาปัตย์’ ก็รู้สึกว่าอาจารย์ท่านเข้าใจ แต่คุณพ่อท่านก็ไม่อยากให้เรียนสถาปัตย์ เพราะท่านเห็นว่าศิลปินมันจะไส้แห้ง เพราะที่บ้านเองก็ฐานะไม่ดี ท่านอยากให้เรียนไปทางเป็นข้าราชการมากกว่า อยากให้เป็นเจ้าคนนายคน ผู้ใหญ่สมัยก่อนท่านจะมีความเชื่อแบบนั้น 

ธีรพล นิยม
ธีรพล นิยม

“แต่ตอนเรียนผมก็ทำกิจกรรมเยอะ ชอบทำกราฟิก อย่าง ‘หนังสือสมานมิตร’ ของเด็กสวนฯ ผมก็เป็นบรรณาธิการเอง ออกแบบหน้าปกอะไรทั้งหมด เรียน เล่น ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกับเพื่อนๆ ในบ้านหลังเดียวเป็นสิบกว่าคน อดด้วยกัน กินด้วยกันมา บ้านผมไม่ค่อยมีตังค์ก็ต้องไปทำงานที่โรงพิมพ์ด้วย เรียกได้ว่าชีวิตวัยนั้นมันเต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ทำให้ผมเชื่อในพลังของมิตรภาพ ทุกวันนี้เราก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ

“พอเข้ามหาวิทยาลัย ที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ มันก็อยู่ในช่วง 6 ตุลา และ 14 ตุลา ผมอยู่ปี 5 ก็ทำกิจกรรมเยอะ ก็มีความสนใจเรื่องของการเมืองเหมือนกัน นอกจากกิจกรรมทางการเมืองแล้วผมก็ทำกิจกรรมของคณะอยู่ด้วย ผมมองว่าการที่เราได้มีโอกาสทำกิจกรรมนั้นมันถือเป็นการเรียนรู้มิติทางสังคม ยิ่งตอนที่เคยทำงานที่โรงพิมพ์มันทำให้เราได้อะไรเยอะนะ เพราะว่าพวกนักคิดอย่างคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุดจิต คุณอมร อมรเจริญ ฯลฯ รุ่นพี่สวนกุหลาบฯ ทั้งนั้น เขาก็เสวนากันอยู่แถวนั้น มันเลยทำให้ผมสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับสังคม”

สถาปัตย์และสังคม 

เขาเริ่มกางปีกแห่งประสบการณ์จากจุดเริ่มต้นหลังจากเรียนจบก็เพียงเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องในเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อวัยหนุ่มสาวได้ผลิบาน 

“หลัง 6 ตุลา เพื่อนๆ ผมก็เข้าป่ากัน จริงๆ แล้วผมก็คิดว่าจะได้เข้าป่าเหมือนกัน แต่พอไปเช็คที่สันติบาลแล้ว ไม่มีชื่อผมก็เลยรอดไป พอเรียนจบ ผมก็มาตั้งออฟฟิศ แปลน อาคิเตค เพราะจะหาเงินไปช่วยเพื่อนที่อยู่ในป่า 

“ผมโตมาจากมิตรภาพเพื่อนฝูง ชุมชน และการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทีนี้พอมาทำงานมันก็เลยเป็นไปตามปณิธานเพื่อนช่วยเพื่อนๆ ส่วนใหญ่งานที่ได้ก็จะเป็นงานประกวดแบบ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าใครเป็นคู่แข่งอะไรนะ เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับมิตรภาพ ไม่เคยคิดว่าเป็นการทำธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขันอะไร 

“แต่เมื่อทำงานมันก็ต้องทำให้ดี เพราะถ้าทำไม่ดีมันก็จะไม่ได้เงิน ก็คิดกันอย่างงั้นเลยพยายามทำกันออกมาให้ดีที่สุด ด้วยพลังของคนหนุ่มสาวในตอนนั้น ... แต่ไม่ว่าจะด้วยยุคสมัยไหนผมว่าคนหนุ่มสาวเขาก็มีพลังบางอย่าง แต่การที่เขาจะคิดอะไรไปในทางไหนนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมบริบททางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่ทำอะไรให้เป็นแบบอย่างแก่พวกเขา

“งานสถาปัตย์แม้จะทำเป็นธุรกิจ แต่มันก็ยังเป็นงานศิลปะอยู่ดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านงานสถาปัตย์ไปมากนะตั้งแต่ที่ผมเริ่มอยากที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้มาจนถึงทุกวันนี้ พื้นฐานการศึกษาไทยแล้วมันเป็นแบบรากลอย เมื่อไปรับตะวันตกมา การสืบเนื่องจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเรา มันจึงค่อยๆ ขาดหายไป อันนี้น่าเสียใจ 

ธีรพล นิยม
ธีรพล นิยม

“ที่จริงงานสถาปัตยกรรมของไทยเรา อันที่เป็นสถาปัตยกรรมทางประเพณีมีความงดงามมาก แล้วก็เป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศด้วย เรามีงานสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา ซึ่งมันเป็นความงามที่เกิดจากภูมิปัญญาที่ผ่านการสั่งสมมาจนเป็นปรัชญา จะเห็นได้ว่าอัตลักษณ์ของเราคือความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ จะโปร่งเบา และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมาก มันเปี่ยมไปด้วยความหมายนะ

“ ‘แปลน’ เองก็ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกเยอะตอนนั้นเรามีความคิดว่า งานสถาปัตยกรรมประเพณีเป็นการรับใช้คนชั้นสูง ไม่ได้มองไปถึงเรื่องจิตวิญญาณ ทำให้เราสนใจงานตะวันตกมากเลยในตอนนั้น อันที่จริงงานสถาปนิกก่อนหน้ารุ่นผม สักประมาณสิบถึงยี่สิบรุ่น ยังมีงานวิถีไทยเยอะ เพราะงั้นเวลาออกแบบเขาจะเน้นไปทางงาน Tropical ที่อยู่อาศัยในเขตร้อนชื้น พอมารุ่นผมมาเรื่อยๆ มันเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เน้นเรื่องการใช้สอย หรือว่าความงามธรรมดา เพราะระบบทุนนิยมมันเป็นเรื่องการเสพจนเป็นเรื่องหลักปกติ จึงทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นการบริโภค จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้จะมีงานสถาปัตยกรรมที่เป็นไอคอนมากมาย เพื่อที่จะแสดงถึงความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ

“ที่สำคัญคนไทยมักไม่มั่นใจแนวคิดของคนไทยด้วยกันเอง อันนี้เป็นปัญหา คือเรานิยมไปเรียนต่างประเทศจนเป็นค่านิยม มันก็ไม่ใช่เรื่องผิด อยู่ที่ว่าเราต้องรู้จักคิดให้ได้ เรารับอะไรเข้ามาง่ายๆ โดยไม่ได้มีการเอาพื้นฐานที่เรามีมาใช้ เราไม่ค่อยได้ระลึกถึงศิลปวัฒนธรรม รากเหง้าที่เรามี ดังนั้นเมื่อเวลาสร้างงานออกมาชิ้นหนึ่งมันจึงไม่ได้มีอิทธิพลขนาดถูกนำไปผสานอยู่ในงานนั้นๆ 

“ผมมีความเชื่อว่าสังคมจะดีได้ ผู้นำของเราก็ต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนที่มีความสามารถ แต่ก็ต้องมีคุณธรรมด้วย ผมไม่เห็นด้วยเรื่องการโกง ชีวิตผมมันผูกพันอยู่กับม็อบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะงั้นมันไม่มีอะไรใหม่ เรื่องของการเมืองผมก็มองอย่างผู้สังเกตการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นสถาบันการศึกษา (สถาบันอาศรมศิลป์) เราก็ใช้โอกาสที่มีสัญลักษณ์มากมายทางการเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้นักศึกษาของเราได้ลงพื้นที่สัมผัสกับบรรยากาศจริงๆ เราไปในม็อบไปขอให้เขาลงความเห็นในเรื่องของการปฏิรูป ซึ่งหลายคนก็ให้ความเห็นที่ดีมาก จากนั้นเราก็ได้เชิญตัวแทนทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันในรายการของไทยพีบีเอส โดยมีประเด็นเดียวคือ 

“การไม่ไปอิงเรื่องอำนาจ การมองข้ามความเป็นเสื้อสีต่าง” ก็พบว่าทุกคนมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการคอร์รัปชั่น เรื่องความเป็นอยู่ ปากท้อง เรื่องการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่ารากของปัญหานั้นเหมือนกัน เพียงแต่การนำพาที่เปลี่ยนไป”

ความเจริญกลืนกินจิตวิญญาณ

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เรากำลังจะเห็นได้จากริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตอนนี้ ที่เมื่อก่อนจะมีภาพที่สวยงาม ความเป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมยังคงอยู่ แต่ตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนไป 

“จริงๆ แล้วงานสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปะชิ้นที่ใหญ่ที่สุด มีผลต่อการสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของบ้านเมือง และมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนด้วย จะเห็นได้ว่านักคิดที่สำคัญของโลกก็มาจากบ้านเมืองที่สวยงามมากมาย ‘เมื่องานสร้างบ้านแปลงเมือง’ มันมีผลต่อความรู้สึกนึกคิด จริงๆ งานสถาปัตยกรรมมันหนีไม่พ้นเรื่องของวัฒนธรรม แต่บ้านเราต้นทุนความคิดเหล่านี้มันน้อย มองงานสถาปัตยกรรมเป็นเพียงแค่สิ่งก่อสร้าง เพื่อการใช้สอย เพื่อการรับใช้ระบบทุนเท่านั้นเอง ไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรม 

“เพราะงั้นผังเมืองของบ้านเรามันก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ในโลกนี้เมืองที่อยู่ติดแม่น้ำ เขาต้องมีการเปิดพื้นโดยรอบเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแม่น้ำที่เป็นของสาธารณะ เพราะอะไรก็ตามที่คนไม่ได้เข้าถึงก็จะไม่รัก ไม่ได้หวงแหน ถ้าเราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติเราก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ กลับมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพื้นที่สองฝั่งมันถูกจับจองเป็นเจ้าของโดยกลุ่มทุนและพัฒนาไปโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ คนกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เราจะสัมผัสได้ก็เพียงสัญจรข้ามแม่น้ำกันเท่านั้น

ธีรพล นิยม
ธีรพล นิยม

“ที่สำคัญคือพอมีเทคโนโลยีเข้ามาแล้ว เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกันเอง หรือคนกับธรรมชาติก็น้อยลง การสร้างบ้านแปลงเมืองก็ไม่มีมิติทางจิตวิญญาณ จะเป็นไปตามระบบทุนเป็นหลัก ก่อนหน้านี้หลายๆ ประเทศก็คิดที่จะแก้ปัญหาความเป็นเมืองใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดมนุษย์จะมีวิธีในการจัดการปัญหาแน่นอน เพียงแต่ว่าต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบเขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยเท่านั้นเอง

“พูดถึงภูมิสถาปัตย์ เดี๋ยวนี้บ้านเราก็เห็นความสำคัญกันมากขึ้น มันอาจมีเหตุมาจากการได้ไปเห็นต่างประเทศ หรือเรื่องของระบบทุนเวลาทำคอนโดมีเนียมขาย ฯลฯ ซึ่งผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่นำเรื่องงานภูมิสถาปัตย์เข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรม เพราะผมเชื่อและมีแรงจูงใจว่าธรรมชาติเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่ดูแลมนุษย์ได้ดีที่สุด เมื่อคนอยู่ห่างไกลจากธรรมชาติเรื่อยๆ เราจึงอยากนำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตย์ที่ทุกคนต้องการ แท้จริงแล้วคนโหยหาธรรมชาตินะ 

“งานสถาปัตยกรรมนี้มันเป็นเรื่องของชีวิต มันไม่ใช่เรื่องทางด้านกายภาพเฉยๆ เมื่อมนุษย์เป็นหนึ่งในสรรพสิ่ง งานสถาปัตยกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติเข้าหากัน แต่ว่ามันควรเป็นความจำเป็นที่เรารู้ด้วยสำนึกนะ เพราะเราจะตระหนักรู้ได้ถึงประโยชน์ที่แท้จริง คุณค่ามันจึงเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ อยู่ที่ว่าเมื่อเราทำอะไร เราคิดกับมันแค่ไหน สถาปนิกจึงมีความสำคัญมาก” 

สร้างบ้านแปลงเมืองตามวิถี